วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ทำไม NLP จึงไม่ได้ผล

เคยมีคนถามผมว่า “อาจารย์ครับ ทำไม NLP จึงไม่ได้ผล” คำถามง่ายๆ แบบนี้ทำเอาสมองของของผมช๊อตไปครู่หนึ่งก่อนที่ผมจะถามเขากลับไปว่า “ทำอะไรล่ะที่ว่ามันไม่ได้ผล” คำตอบที่ผมได้รับกลับมามันทำให้ผมประหลาดใจกว่าคำถามแรกอยู่หลายช่วงตัวเพราะคนเริ่มต้นคำถามเขาตอบกลับมาว่า “ผมก็ไม่ไม่ทราบครับ พอดีไปได้ยินอาจารย์อีกท่านหนึ่งเขาบอกว่า NLP มันไม่ได้ผล”

                เจอเอาอีแบบนี้มันเหมือนกับมีคนถามผมว่าทำไมรถยนตร์คันนั่นจึงวิ่งไม่ได้ ความจริงแล้วมีเหตุผลได้เป็นล้านข้อเลยกระมังที่จะทำให้รถยนตร์มันวิ่งไม่ได้ ตั้งแต่หัวเทียนบอด ไดสตาร์ทพัง เพลาขาด ยางแบน น้ำมันหมด หรือแม้แต่ไม่มีคนไปขับมันน่ะซิ

เรื่องของ NLP ก็เหมือนกัน



ความจริงแล้วกฏพื้นฐานของ NLP ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ความสำเร็จนั้นย่อมเกิดขึ้นเมื่อปัจจัยมันสมบูรณ์พร้อม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ หน้าที่การงาน ชีวิตครอบครัว สุขภาพ หรือแม้แต่การใช้เทคนิค NLP เองทุกสิ่งมันจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อ “ปัจจัยความสำเร็จมันอำนวยพร้อม” ก็เท่านั้น

หากปัจจัยความสำเร็จมันสมบูรณ์พร้อมเมื่อไหร่ ถึงไม่อยากจะสำเร็จมันก็สำเร็จของมันเองได้ง่ายๆ เหมือนกัน

ดังนั้นสำหรับคำตอบของคำถามครอบจักรวาลนี้ก็คงต้องตอบแบบครอบจักรวาลกลับไปว่า ที่เขาว่า NLP ไม่ได้ผลหรือไม่สำเร็จนั้นน่ะ เขาทำอะไร และทำสำคัญ “ปัจจัยความสำเร็จ” ของมีพร้อมขนาดไหน

ปัจจัยความสำเร็จของ NLP คืออะไร ...เรื่องนี้จะว่าไปก็เป็นบทเรียนแรกๆ ที่นัก NLP ทุกคนจะต้องทราบ

ปัจจัยความสำเร็จของ NLP นั้นเรียกว่า “สี่เสาหลักของ NLP(4 Pillars of NLP) เทคนิค (หรือบางทีก็เรียกว่าแพทเทิน) ใดๆ ก็ตามของ NLP จะไม่มีวันสำเร็จไปได้เลยหากขาดซึ่งองค์ประกอบสำคัญที่เปรียบเสมือนเสาหลักทั้งสี่นี้ โดยเสาหลักทั้งสี่ที่ว่าจะประกอบไปด้วย


 พลังของมิตรภาพ (Rapport) หัวใจหรือแก่นแท้ของคำว่ามิตรภาพนี้ก็คือการยอมรับและการไว้วางใจซึ่งกันและกัน หากขาดซึ่งสิ่งนี้ไปแล้วแต่ให้มีเทคนิคหรือแพทเทินขั้นเทพมาจากไหนก็จะไม่มีวันสำเร็จได้ เพราะการไม่ได้รับการยอมรับหรือการไว้ใจนั้นมันก็คือการถูกต่อต้านนั่นเอง ลองนึกถึงนักบำบัดที่ทำตัวไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับผู้รับการบำบัด ไม่ยิ้มแย้มไม่พูดไม่จา หรือเอาแต่พูดจาด้วยศัพท์ยากๆ ที่ไม่น่าจะมีใครเข้าใจนอกจากเขาคนเดียว เพียงแค่นี้ทุกอย่างมันก็จบเห่แล้ว

พลังจากระบบประสาทสัมผัสในร่างกาย (Power of Your Senses) NLP นั้นเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสารกับระบบประสาทของมนุษย์ ดังนั้น NLP จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดึงศักยภาพของระบบประสาทมนุษย์มาใช้อย่างเต็มที่ ลองนึกถึงว่านัก NLP พยามพูดจาชักจูงด้วยเทคนิคต่างๆ แต่ผู้รับการบำบัดไม่สามารถใช้ระบบประสาทของเจาคล้อยตามได้ แบบนี้เทคนิคต่างๆ มันก็ไม่มีวันสำเร็จ ลองนึกนักบำบัดกำลังบอกให้ผู้รับการบำบัดนึกถึงภาพตัวเอง แต่ผู้รับการบำบัดกลับนึกไม่ออก หรือนึกออกก็ดันไปนึกถึงภาพอื่นๆ แบบนี้ก็จบเห่เหมือนกัน ดังนั้นแล้วการใช้เทคนิค NLP จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการตรวจสอบ หากตรวจสอบแล้วไม่ผ่านก็จะต้องมีกระบวนการฝึกหรือกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทเสียก่อน เมื่อการสื่อสารของระบบประสาทของผู้รับการบำบัดถึงพร้อมแล้ว เทคนิคต่างๆ มันจึงจะสามารถสำแดงพลังออกมาได้อย่างเต็มที่


·         ผลลัพท์ที่ต้องการ (Outcome Thinking) นอกจากจะต้องมีผลลัพท์ที่แน่นอนแล้ว ผลลัพท์นั้นจะต้องมีความเป็นรูปธรรมอีกด้วย ผลลัพท์ที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันไม่ต่างจากการขับรถไปยังสถานที่ๆ ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นขับให้ตายมันก็ไม่มีวันไปถึง

·         ความยืดหยุ่น (Behavior Flexibility) ใน NLP นั้นมีเทคนิคหรือแพทเทินอยู่ประมาณ 200 กว่าแพทเทินสำหรับความต้องการหรือจุดประสงค์ต่างๆ และไม่ว่าเราจะเทคนิคหรือแพทเทินที่เราเลือกใช้จะเป็นตัวใดก็ตาม เราจะต้องแผนสำรองเสมอ ถ้ามันไม่ได้ผลก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องดันทุรังต่อไป นัก NLP ที่ดีจะต้องพร้อมที่จะพลิกแพลงสถานการณ์อยู่เสมอ การดันทุลังใช้เทคนิคที่มันไม่มีแววไม่ได้ผลก็เหมือนกับการบึ่งรถไปข้างหน้าทั้งๆ ที่เห็นอยู่ชัดๆ ว่ามันเป็นเหว รถไม่หัวทิ่มลงไปในเหวตายยกคันรถซิถึงเรียกว่าแปลก


ดังนั้นสำหรับนัก NLP แล้ว ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จมันจะขึ้นอยู่กับหลักสำคัญทั้งสี่นี้ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ NLP เกิด “แป๊ก” ขึ้นมา สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือไม่ต้องไปโทษว่า NLP มันไม่ดีอย่างไร แต่ไห้เร่งสำรวจดูว่าการใช้เทคนิค NLP ของเรามันสอดคล้องหรือขัดแย้งกับหลักสำคัญทั้งสี่นี้อย่างไรบ้าง


และถ้ามันมีส่วนที่เสาแหว่งหรือขาดหายไปซักต้นแล้ว เรื่องที่ว่า “ทำไม NLP จึงไม่ได้ผล” ก็ไม่เห็นว่ามันจะแปลกตรงไหนครับ




1 ความคิดเห็น: