วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

จิตบำบัดแบบการเรียนรู้ใหม่ (Re-Education Therapy)

จิตบำบัดชนิดนี้มีเป้าหมายที่ลึกกว่าจิตบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive Therapy) คือมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงความรู้สึก ความคิด พฤติกรรมของผู้ป่วยให้เขาได้ปรับความคิดของเขาให้ดีและถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยที่วัตถุประสงค์ของการบำบัดประเภทนี้รวมไปถึงให้ผู้ป่วยได้มีการปรับตัวใหม่ ปรับเป้าหมายใหม่ ปรับพฤติกรรมใหม่ พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น และ ให้สามารถเข้าใจศักยภาพของตนเองในทางสร้างสรรค์และมีความสุข



จิตบำบัดแบบให้เรียนรู้ใหม่มีสมมติฐานหลักที่ว่า คนทุกคนมักจะแสวงหาความหมายให้กับชีวิตของตนเอง และถ้าความหมายของชีวิตนี้บรรลุผลสำเร็จ คน ๆ นั้นก็จะสามารถเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้ และพฤติกรรมของคน ๆ นั้นก็จะได้รับการพัฒนาไปในทางที่ถูกต้อง
เทคนิคที่ใช้ในการบำบัดรักษาแบบการเรียนรู้ใหม่

1. พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy) การบำบัดชนิดนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า "พฤติกรรมที่อย่างเกิดจากการเรียนรู้ ไม่เว้นแม้แต่พฤติกรรมที่ผิดปกติ" ผู้บำบัดด้วยการใช้พฤติกรรมบำบัดมีหน้าที่ช่วยให้ผู้ป่วยเลิกเรียนรู้ในสิ่งที่ผิด และหันมาสนใจการเรียนรู้ในสิ่งที่ดีกว่า ในการวิเคราะห์พฤติกรรมที่ผิดปกติของผู้ป่วยนั้น การสังเหตุและการสัมภาษณ์เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บำบัดต้องคำนึงถึง ในบางครั้งผู้บำบัดต้องสอบถามข้อมูลจากบุคคลใกล้ชิดของผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ผู้บำบัดสามารถเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น และระบุได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของพฤติกรรมที่ผิดปกติไป ทั้งนี้มีวิธีพฤติกรรมบำบัดนี้มีเทคนิคที่หลากหลาย ซึ่งจะขอยกตัวอย่างมากล่าวดังต่อไปนี้

1.1 Systematic Desensitization หลักการของเทคนิคนี้คือ "ความกลัวที่เกิดขึ้น สามารถทำให้ลดลงได้ตามลำดับขั้น" วิธีการบำบัดคือให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับความรู้สึกกลัว หรือกังวลใจทีละน้อย ๆ จนกระทั่งถึงขั้นมากที่สุด โดยผู้บำบัดมีหน้าที่สอนให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะรับมือกับความกลัวนั้น โดยใช้การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง จนกระทั่งสามารถเอาชนะความกลัวหรือความกังวลนั้น ๆ ไปได้ในที่สุด กระบวนการของจิตบำบัดชนิดนี้มี 3 ขั้นตอนอันได้แก่

• The Construction of Hierarchies ขั้นตอนนี้เป็นการสำรวจถึงระดับความกระวนกระวานใจของผู้ป่วยที่เป็นผลมาจากสิ่งเร้าต่าง ๆ เช่น คนไข้บอกว่ามีความไม่สบายใจเรื่องสามี ผู้บำบัดก็ต้องให้คนไข้อธิบายความไม่สบายใจ และสถานการ์เกี่ยวกับสามีที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจออกมาให้ได้มากที่สุด

• Training in Relaxation หลังจากเรียบเรียงลำดับขั้นความกระวนกระวายใจแล้ว ขั้นต่อมาคือการให้คนไข้ผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีหลากหลายประการเช่น พักผ่อนให้เต็มที่ นั่งสมาธิ สะกดจิต และการใช้ยา

• Desensitization Procedure เมื่อผู้บำบัดได้ทราบถึงระดับความกระวนกระวายของคนไข้ และได้ฝึกให้คนไข้สามารถผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้แล้ว จึงสามารถเริ่มกระบวนการ Desensitization ได้ โดยในขณะที่คนไข้นอนหลับตาและผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ ผู้บำบัดจะเริ่มอธิบายหรือบรรยายถึงสิ่งต่าง ๆ ต่อคนไข้และให้คนไข้จินตนาการภาพตาม เริ่มตั้งแต่สถานการณ์ทั่ว ๆ ไปก่อน และถ้าคนไข้ยังคงผ่อนคลายได้ ผู้บำบัดจะบรรยายแก่คนไข้ต่อไปจากสิ่งที่ทำให้เกิดความกระวนกระวายใจน้อยที่สุด เรื่อยไปจนถึงระดับขั้นสูงสุด การรักษาจะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าคนไข้จะผ่อนคลายอยู่ได้จนถึงระดับขั้นสูงสุด โดยปกติแล้วจิตบำบัดวิธีนี้จะใช้เวลา 15 – 30 นาที โดยคนไข้จะต้องเข้ารับการบำบัด 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ และระยะเวลาที่ใช้อาจใช้ตั้งแต่สัปดาห์เดียวจนเป็นเดือน

1.2 Aversion Conditioning หลักการของเทคนิคนี้คือ "หากบุคคลทำพฤติกรรมใด ๆ ที่ไม่เป็นที่พึงประสงค์ เขาจะต้องได้รับการลงโทษ" เมื่อพฤติกรรมที่ไม่ดีเป็นตัวเชื่อมโยงกับการลงโทษที่เป็นประสบการณ์ของความทุกข์ บุคคลก็จะสามารถเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองได้ วิธีการนี้มักใช้กับกลุ่มผู้ติดยาเสพติด เช่น ในการบำบัดคนที่ติดยาเสพติด เขาเหล่านี้จะถูกสั่งให้กินยา แล้วหลังจากนั้นก็ให้ดื่มเหล้า ยาตัวนั้นจะมีปฏิกิริยากับเหล้า และให้ผลคือ มีการวิงเวียน อาเจียนออกมา

1.3 Operant Conditioning ตรงกันข้ามกับวิธี Aversion Conditioning เทคนิคนี้จะใช้วิธีการให้รางวัลเป็นตัวหยิบยื่นให้เมื่อบุคคลมีการกระทำพฤติกรรมที่พึงประสงค์

1.4 Behavioral Rehearsal วิธีการนี้ทำได้โดยผู้ป่วยปฏิบัติเอง โดยผู้บำบัดจะแนะนำให้กระทำพฤติกรรมที่เหมาะสมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายใต้การดูแลและชี้แนะของผู้บำบัดรักษา

1.5 Modeling รูปแบบนี้มีพื้นฐานมาจากการทำตามแบบอย่างของสังคม ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือให้เปลี่ยนพฤติกรรมของเขา โดยการเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ให้การบำบัดเอง วิธีการนี้ Bandura เป็นผู้พัฒนาและนำมาใช้

1.6 Implosive Therapy วิธีการนี้คล้ายกับการทำจิตบำบัดแบบ Systematic Desensitization เพราะวิธีการนี้มองดูผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติมีสาเหตุมาจากความพยายามในการที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความกระวนกระวายใจต่าง ๆ และคนไข้จะถูกถามถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจเช่นเดียวกัน วิธีการของ Implosive นั่นต่างจาก Desensitization ตรงที่ผู้บำบัดจะนำเอาสิ่งที่คนไข้กระวนกระวายใจหรือไม่สบายใจให้แก่คนไข้โดยตรง เช่น คนไข้เป็นโรคกลัวเครื่องบิน ก็ให้คนไข้ขึ้นเครื่องบินในระยะทางสั้น ๆ จิตบำบัดชนิดนี้ได้ผลดีกว่าการใช้ Desensitization ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการ phobia เพราะคนไข้จะมีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังการทำจิตบำบัดไม่กี่ครั้ง

2. Client – Center Therapy การบำบัดรูปแบบนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งภายใต้จิตบำบัดประเภทให้การศึกษาใหม่ (Re-Educative Therapy) ที่มีความสำคัญ การบำบัดวิธีนี้มุ่งให้ความสำคัญกับตัวผู้รับบริการ (Client) โดยให้ผู้ป่วยมีอิสระภาพในการเล่าเรื่อง ไม่ต้องถูกกำหนดจากผู้บำบัดว่าต้องให้ทำอะไร ผู้บำบัดจะต้องมีทัศนคติที่ดีต่อผู้รับบริการ เขาต้องเชื่อว่าผู้ป่วยทุกคนมีศักยภาพที่จะจัดการปัญหาหรือชีวิตของเราให้คลี่คลายไปได้ในทางที่ดีด้วยความคิดของตนเองได้ ในการบำบัดด้วยวิธีนี้จะมีการใช้เทคนิคต่าง ๆ ได้แก่
  • การให้ผู้ป่วยได้พูด ระบายความรู้สึกและความคิดออกมา
  • ยอมรับฟังและเข้าใจปัญหาของผู้ป่วย
  • ปล่อยให้ผู้ป่วยได้ลองปฏิบัติเอง โดยผู้บำบัดไม่ต้องบอกหรือสั่งให้ผู้ป่วยทำตาม แต่ผู้บำบัดมีหน้าที่ให้คำแนะนำ เมื่อผู้ป่วยขอถามความช่วยเหลือ


ข้อเสียของวิธีการนี้ก็คือ วิธีการนี้เหมาะสำหรับคนที่มีบุคลิกค่อนข้างมั่นคง ต้องการการอธิบายให้เข้าใจได้ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางอารมณ์อย่างรุนแรง วิธีการนี้จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

3. การให้คำแนะนำ เทคนิคที่ใช้ในการบำบัดรักษาแบบให้คำปรึกษาแนะนำคือ การเข้าถึงผู้ป่วยโดยตรง (Directive Approach) โดยที่ผู้บำบัดจะดำเนินการช่วยเหลือผู้มารับบริการโดยดูว่าปัญหาของเขามีอะไรที่จำเป็นต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก มีเรื่องอะไรเป็นเรื่องรีบด่วนและอะไรต้องดำเนินการแก้ไขในระยะยาว หลังจากนั้นจึงเริ่มวางแผนเพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ผู้บำบัดจะใช้การชักจูงและออกคำสั่งอย่างมีเทคนิค ช่วยเติมพลังใจให้ผู้ป่วยมีความเข้มแข็งทางจิตใจมากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเครียด เทคนิคที่ใช้อยู่ก็คือ ให้ผู้ป่วยตรึกตรองและเข้าใจอารมณ์ตัวเองอย่างมีเหตุผล จัดโปรแกรมให้ทำ และให้เข้าใจสภาพแห่งความจริง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น