วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

Murray Bowen - Differentiation of Self (ความเป็นตัวของตัวเอง)

            Differentiation of Self หรือ ความเป็นตัวของตัวเองนี้ หมายถึงความสามารถของบุคคลที่จะแยกแยะความคิด สติปัญญา ความรู้สึก และอารมณ์ของตนเองออกจากครอบครัวเดิม (Family of Origin) ไม่ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำทางอารมณ์หรือความคิด ไม่ต้องคอยพึ่งพาผู้อื่น และไม่ต้องรอการเห็นชอบจากผู้อื่น สามารถเป็นอิสระได้อย่างแท้จริง

ความเป็นตัวของตัวเองนี้เป็นดั่งเป้าหมายสำคัญของทฤษฎี Family Therapy ของ Bowen เนื่องจาก Bowen เชื่อว่าการเป็นตัวของตัวเองได้พร้อม ๆ กับที่ตนสามารถมีสัมพันธภาพที่ดีไปพร้อมกับคนอื่นได้นั้นย่อมก่อให้เกิดความสุขและความสงบที่แท้จริงให้แก่บุคคลได้

            บุคคลจะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจของตนเอง Bowen ได้จำแนกตัวตนออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ Separate Self เป็นตัวตนภายในที่มั่นคง ไม่คล้อยตามไปกับกระแสภายนอกหรือบุคคลอื่น และ Soluble Self ที่เป็นตัวตนที่มักจะหลอมรวมไปกับสภาพอารมณ์ที่ตนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งนี้ผู้ที่มีความเป็นตัว ของตัวเองสูงนั้นต้องมี Separate Self สูงกว่า Soluble Self หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือต้องรู้จักและเข้าใจในความเป็นตัวเองมากเพียงพอจนไม่โอนอ่อนคล้อยตามไปกับสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ

  
          ทั้งนี้มีปัจจัยอยู่ 3 ประการที่ส่งผลต่อความเป็นตัวของตัวเองของบุคคลว่าจะชัดเจนได้มากเพียงใดขึ้นอยู่กับ

1. ระดับของความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้อื่น (The degree of bonds with others) หากบุคคลมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้อื่นมาก ก็จะมีความเป็นตัวของตัวเองต่ำ

2. ระดับความกังวลที่ตนมีต่อตนเองและต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น (The level of anxiety in self and the relationship network) หากบุคคลมีความกังวลสับสนต่อตนเองและต่อความสัมพันธ์ที่ตนมีในระดับที่สูง ก็จะส่งผลให้ตนมีความเป็นตัวของตัวเองได้ต่ำ

3. ความสามารถในการตัดขาดทางอารมณ์ (Emotional Cut-Off) หากบุคคลมีความสามารถในการตัดขาดทางอารมณ์ที่ตนผูกพันต่อผู้อื่นมาก ก็จะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ดี

Bowen ได้แบ่งลักษณะของคนออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. ผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง (Hard-Core Self or Solid Self) เป็นลักษณะของบุคคลที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มั่นใจในตัวเอง ไม่ต้องร้องขอความเห็นจากใคร ไม่จำเป็นที่จะต้องต่อรองอะไรกับใคร ยิ่งตนมีความเข้าใจในตนเองมากเท่าไหร่ Hard-Core Self ก็จะยิ่งโดดเด่นมากเท่านั้น

2. ผู้ที่มีบุคลิกภาพเทียม (Pseudo Self) เป็นลักษณะของบุคคลที่มีความเป็นตัวของตัวเองต่ำ ไม่เข้าใจว่าตนเป็นใคร จนต้องไปยืมบุคลิกภาพจากภายนอกหรือคนรอบข้างมาเป็นบุคลิกภาพของตนเอง เช่น แต่งตัวตามแฟชั่นเพราะคิดว่าคนอื่นน่าจะมองว่าตนเองสวยและดูดี คนพวกนี้มักจะคล้อยตามคนอื่นได้ง่าย มักต้องมีการต่อรองในเรื่องต่าง ๆ ตลอดเวลา ต้องถามหาความคิดเห็นของคนอื่นเพื่อมาสนับสนุนความคิดของตนเองตลอดเวลา

ผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเองต่ำมักจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้แบบไม่เป็นตัวของตัวเอง ยิ่งการหยิบยืมบุคลิกภาพจากภายนอกมีมากเท่าไหร่ ความรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเองก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ตนไม่สามารถแยกความรู้สึกของตนเองที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ๆ (ตีความ) ออกจากรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้หรือลำบาก

ในขณะเดียวกันผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงจะมีตัวตนที่ชัดเจนในทุกด้าน ทั้งมีเป้าหมายที่กระจ่างชัด รู้ว่าตนต้องการอะไร เพื่ออะไร และอย่างไร สามารถแยกแยะความรู้สึกหรืออารมณ์กับความเป็นจริงออกจากกันได้ บุคคลประเภทนี้มักมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตนเอง มีความยืดหยุ่นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสูง ทำให้แสดงออกได้อย่างเหมาะสม

            ทั้งนี้ในแต่ละครอบครัวอาจมีบ่อยครั้งที่การปฏิสัมพันธ์นั้นก่อให้เกิด Fusion หรือการหลอมรวมทางอารมณ์ขึ้นมา Fusion คือการที่ฝ่ายหนึ่งครอบงำความคิดและอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่ง จนทำให้บุคคล “ลืม” ความเป็นตัวของตัวเองไป ชีวิตไม่มีอิสระ การครอบงำทางความคิดนี้จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่ว่าบุคคลมีความเป็นตัวของตัวเองมากหรือน้อยเพียงใด หากมีความเป็นตัวของเองสูง การครอบงำทางความคิดก็จะไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้การครอบงำทางความคิดมักจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ที่พ่อและแม่มีต่อลูก เด็ก ๆ มักจะยอมให้พ่อแม่ครอบงำความคิดและความรู้สึกไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ไม่ถูกต้อง

            ทั้งนี้ระดับของการหลอมรวมทางอารมณ์ สามารถจำแนกได้ดังนี้

            ระดับ 0 – 25 แสดงว่า เป็นผู้ที่ถูกครอบงำทางอารมณ์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องคอยพึ่งพาความคิดและความรู้สึกจากสมาชิกในครอบครัว ขาดความเป็นตัวของตัวเอง

            ระดับ 25 – 50 แสดงว่า เป็นผู้ที่ใช้ชีวิตตามอารมณ์ ไม่กล้าคิดที่จะทำอะไรด้วยตนเอง แต่ยังพอที่จะมีเหตุผลเป็นของตัวเองได้บ้าง แต่กระนั้นแล้วก็ยังต้องการการสนับสนุนและความเห็นชอบจากสมาชิกในครอบครัว

            ระดับ 50 – 75 แสดงว่า เป็นผู้ที่เหตุผลมากกว่าอารมณ์ มีความเป็นตัวของตัวเอง

            ระดับ 75 – 100 แสดงว่า เป็นผู้ที่สามารถแยกแยะความคิด ความมีเหตุผล และอารมณ์ออกจากกันได้ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น