วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

จิตบำบัดแบบประคับประคอง (Supportive Psychotherapy)

วัตถุประสงค์หลักของจิตบำบัดชนิดนี้ คือ เพื่อประคับประคองให้สถานภาพของผู้ป่วยยังคงอยู่ในสภาพเดิมไว้ ไม่แย่ลงไปมากกว่าเดิม ซึ่งผู้ป่วยในที่นี้คือ บุคคลที่มีภาวะวิกฤติเกิดขึ้นในชีวิตของเขา ซึ่งภาวะวิกฤตนั้นส่งผลทำให้สถานภาพเดิมของเขาต้องสูญเสียไป เช่น การหย่าร้าง การเสียชีวิตของคนที่รักไปกระทันหัน ตกงาน สอบตก เป็นต้น บุคคลเหล่านี้จะได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงจนสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ และความสัมพันธ์ที่มีกับบุคคลอื่น ๆ ผิดไปจากเดิม




ผู้ป่วยจะมีความกังวลใจ ความเครียด รู้สึกผิดหวัง หมดหวังอย่างรุนแรง จนส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวันทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตของตนได้ จิตบำบัดประเภทนี้ผู้บำบัดรักษาต้องช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยด้วยการช่วยให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์นั้น ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ลักษณะของการจิตบำบัดแบบประคับประคองนั้นสามารถแบ่งได้ออกเป็นสามลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ การพยายามทำให้กลไกป้องกันทางจิตหรือสภาพทางจิตเข้มแข็งขึ้น การพยายามทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวให้กลับมาสู่สภาวะเดิมได้ และ การพยายามสร้างกลไกใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเพื่อผู้ป่วยให้สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้

เทคนิคที่ใช้ในจิตบำบัดแบบประคับประคอง

1. การแนะแนว (Guidance) วิธีนี้มักใช้ในบุคคลที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปรับตัว การดำรงชีวิตประจำวัน มักใช้ในด้านการเรียน การงาน และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ผู้บำบัดจะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูล ให้ข้อเท็จจริง และอธิบายความหมายให้แก่ผู้มารับบริการ วิธีนี้จึงใช้ได้ผลดีสำหรับบุคลที่มีปัญหาเพียงเล็กน้อยไม่ลึกซึ้งมากนัก

2. การควบคุมความเครียด (Tension Control) ความเครียดที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อการทำงานและร่างกาย ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การควบคุมความเครียด ซึ่งสามารถทำได้โดย
  • ลดภาวะจากสิ่งเร้าภายนอกให้ลดน้อยลง จัดบรรยากาศให้เงียบสงบ อย่าให้มีสิ่งเร้าจากภายนอกมารบกวน
  • ให้บุคคลนั้น ๆ เพ่งความสนใจไปที่จุด ๆ เดียว เช่น ลมหายใจ ร่างกาย วัตถุ สิ่งของเป็นระยะเวลาหนึ่ง
  • ให้บุคคลนั้น ๆ อยู่ในอาการนิ่งสงบ เงียบ สงบ จัดบรรยากาศให้เขาได้อยู่ในภาวะที่ปราศจากความกดดันต่าง ๆ ความคิดจะหลุดจากสิ่งเร้าที่เป็นต้นเหตุของความเครียด ทำให้สภาพจิตใจเกิดความสงบ ปราศจากความเครียดไปได้ในที่สุด
  • ให้ผู้รับบริการอยู่ในท่าที่สะดวกสบาย ผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด


3. การให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอก (Externalization of Interest) วิธีนี้มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ที่ป่วยที่แยกตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวเอง แล้วอยู่แต่โลกของตนเองเท่านั้น คนที่มีปัญหาประเภทนี้มักจะมีความคิดและพฤติกรรมที่อยู่กับตนเองตลอดเวลา ไม่สนใจสิ่งรอบ ๆ ตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ป่วยมีความกลัว มีความกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาของตนเอง จึงไม่ต้องการเผชิญหน้ากับสิ่งรอบ ๆ ตัว การบำบัดรักษาด้วยวิธีการให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมภายนอกนี้จะช่วยลดอาการวิตกกังวลของผู้ป่วยให้ลดน้องลงได้ ซึ่งจิตบำบัดชนิดนี้มีการนำกิจกรรมต่าง ๆ มาบำบัดรักษาผู้ป่วย อันได้แก่ อาชีวะบำบัด (Occupational Therapy) การเต้นรำบำบัด (Dance Therapy) การเคลื่นไหวต่าง ๆ (Movement Therapy) การประพันธ์และการบำบัดทางสังคม (Poetry and Social Therapy) เป็นต้น

4. การให้ความมั่นใจ (Reassurance) วิธีนี้เป็นการบำบัดรักษาที่จัดว่ามีความสำคัญและเป็นประโยชน์ ซึ่งก่อให้เกิดผลดีอย่างมากในการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางด้านอารมณ์และจิตใจ เช่น ผู้ป่วยที่มีความเศร้า และต้องประสบกับความผิดหวังอย่างรุนแรง บุคคลที่ต้องเผชิญกับสภาพอารมณ์แบบนี้มักจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ผ่านไปได้ แม้ว่าเขาจะมีความสามารถอย่างพร้อมเพรียงก็ตาม ผู้ให้การบำบัดจะต้องพูดให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพื่อให้เค้าสามารถที่จะกลับมายืนหยัดต่อสู้อุปสรรคได้อีกครั้ง

5. การให้คำแนะนำ (Suggestion) คำแนะนำนั้นจะต้องมาจากบุคคลที่เป็นที่ยอมรับและเป็นที่น่าเชื่อถือ ด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำด้วยดี ทั้งนี้ Walberg จะนำวิธีการสะกดจิตไปใช้เพราะจะทำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำสั่งด้วยความเต็มใจในภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นได้ดีกว่าในภาวะที่เขาตื่นอยู่

6. การชักจูง (Persuasion) วิธีนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้ป่วยเอาชนะความขัดแย้งที่เผชิญอยู่ โดยใช้พลังทางด้านจิตใจ (Will – Power) และการรู้จักควบคุมตนเอง (Self – Control) และการรู้จักใช้เหตุผลในการจัดการแก้ไขปัญหาของตนเอง ผู้บำบัดจะชักจูงให้ผู้ป่วยได้ทบทวนค่านิยม ปรัชญา วิถีชีวิต และความเป็นอยู่ที่ตนดำเนินอยู่ โดยผู้บำบัดมีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้ป่วยที่เคยต่อต้านให้กลับมายอมรับสิ่งที่ถูกต้อง

7. การสารภาพและการมีอิสระในการพูด (Confession and Ventilation) วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและธรรมดาที่สุด ใช้เพื่อช่วยลดความเครียดทางอารมณ์ วิธีการนี้เน้นให้ผู้ป่วยพูดระบายปัญหาของตนออกมา เมื่อผู้ป่วยได้ระบายความคิดที่อยู่ในใจก็จะช่วยลดความกังวลใจลงไปได้ ความเครียดที่ได้สะสมมานานก็จะหมดไป ทำให้ตนเองรู้สึกสบายใจขึ้น





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น