ความฝันเป็นปรากฏการพื้นฐานของระบบประสาทที่พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป แน่นอนว่ารวมถึงมนุษย์ด้วย เหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมคนเราถึงต้องฝันนั้นว่ากันตามจริงแล้วยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดใดๆ ทั้งสิ้น ศาสตร์แต่ละแขนงแต่ละสถาบันต่างก็ให้เหตุผลและและการตีความหมายที่แตกต่างกันออกไป
สำหรับจิตวิทยาตามแนวจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) แล้วได้ให้คำอธิบายว่าความฝันเป็นกลไกหนึ่งที่สมองและระบบประสาทได้ใช้เป็นช่องทางในการเปิดเผยความต้องการความปรารถนาส่วนลึกของจิตใจออกมา หรือใช้เป็นตัวสะท้อนสภาวะจิตใจสภาวะอารมณ์ในห้วงเวลาขณะนั้นออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
และเนื่องจากเหตุที่ว่าความฝันเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากส่วนลึกของจิตใจอย่างเป็นรูปธรรมนี้เอง ดังนั้นจิตวิทยาตามแนวจิตวิเคราะห์จึงได้ใช้การวิเคราะห์ความฝันมาเป็นตัววิเคราะห์สภาพจิตใจเชิงลึกให้กับผู้รับการบำบัดอีกด้วย
เรื่องของเรื่องคือ เมื่อคืนนี้ …ผมฝันว่า
“ผมอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง บรรยากาศคุ้นๆ ตาแต่ก็ไม่แน่ชัดนักว่าจะเป็นที่ไหน ต่อมาผมได้พบกับเด็กน้อยคนหนึ่ง (เข้าใจว่าจะเป็นเด็กชาย) ที่ผมไม่เคยรู้จัก อายุคงไม่น่าจะเกิด 7-8 ขวบไว้ผมจุกสวมชุดไทยรูปร่างอ้วนท้วนดูหน้าตาน่ารักดีทีเดียว แต่ในความฝันนั้นเองผมรู้สึกได้ทันทีว่าไอ้เด็กอ้วนคนนี้เป็นผีแน่ๆ ผมรู้สึกมั่นใจในความรู้สึกนี้มากแต่จะโดยอะไรก็ไม่อาจจะทราบได้ และแน่นอนว่าในขณะนั้นผมรู้สึกกลัวขึ้นมาในทันที”
“แล้วเจ้าผีเด็กอ้วนก็เข้าทำหน้าทำตาทำท่าทางน่ารักจนในที่สุดทั้งๆ ที่รู้แล้วว่ามันเป็นผีแน่ๆ และก็ยังรู้สึกกลัวๆ ปนระแวงอยู่นั้นเอง ในที่สุดผมก็อุ้มเด็กคนนั้นขึ้นมา ทันใดนั้นจากหน้าเด็กที่เคยหน้าตาหน้ารักมันก็เริ่มสะแหยะยิ้มและหัวเราะอย่างน่ากลัวที่สุด (หน้าตาไม่ได้เละตาย้อยออกจากเบ้าเป็นผีไทยฉบับคลาสสิกนะครับเพียงแต่ยิ้มกว้างๆ พร้อมกับหัวเราะด้วยหน้าตาบิดเบี้ยวเกินปรกตินิดหน่อยเท่านั้นเอง) ในช่วงเวลานั้นเองผมพยามที่จะวางไอ้ผีเด็กอ้วนนี่ลงแล้ววิ่งหนีไปเสียให้ไกลๆ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเจ้ากรรมผีเด็กมันเกาะตัวผมไว้แน่นมาก พร้อมกับหัวเราะด้วยหน้าเบี้ยวๆ ของมันต่อไป”
“ในขณะที่ผมพยายามจะแกะไอ้เด็กผีออกไปให้พ้นจากตัวอยู่นั้นเอง ในที่สุดพระรูปหนึ่งก็เดินเข้ามาพูดอะไรบางอย่างกับผีเด็ก แล้วทันใดนั้นผีเด็กก็หายไป”
พร้อมกับตัวผมที่ตื่นขึ้นมาในกลางดึก
จากความฝันนี้ถ้าเราตีความหมายตามแบบค่านิยมไทยๆ ผมคงต้องรีบตื่นเช้าไปตักบาตรให้ไอ้น้องผีเด็กอ้วนคนนั้น หรืออาจจะต้องไปค้นหาต่ออีกว่าพระที่มาโปรดนั้นท่านเป็นเกจิรูปใดอยู่วัดไหนมีพุทธคุณด้านใด และที่ขาดไม่ได้คืออาจจะได้ตัวเลขมาซักชุดหนึ่งด้วยครับ (ฮา)
แต่สำหรับจิตวิทยาแนวจิตวิเคราะห์ ผีนั้นเป็นตัวแทนของความรู้สึกผิดที่หลอกหลอนและเก็บซ่อนอยู่ในใจ โดยผีที่สามารถจับต้องตัวกันได้นั้นมันบ่งบอกถึงรู้สึกถึงความผิดอย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือกังขา และการอุ้มนั้นหมายถึงความรู้สึกรับผิดชอบต่อบางสิ่ง ดังนั้นการที่ผมอุ้มผีขึ้นมานั้นจึงสื่อไปถึงการตำหนิตัวเองหรือความรู้สึกที่ต้องการรับผิดชอบต่อบางสิ่งที่เกิดขึ้น สำหรับพระนั้นเป็นตัวแทนของความรู้สึกที่ต้องการสั่งสอนตัวเองในทางศาสนา
ความฝันนี้กำลังบอกถึงปมบางอย่างที่อยู่ลึกในจิตใต้สำนึกและมันก็กำลังส่งผลไปยังสภาพอารมณ์ของผมในขณะนั้นอย่างแน่นอน
ความจริงแล้วก่อนหน้านี้ 2-3 วันผมเพิ่งทำกระเป๋าสตางค์หายที่จตุจักร ซึ่งก็คาดว่าคงไม่แคล้วจะโดนล้วงกระเป๋านั่นแหละ ทั้งๆ ที่ผมเองเป็นคนที่มักจะคอยพูดหรือเตือนให้คนอื่นระมัดระวังเรื่องกระเป๋าอยู่เสมอ ดังนั้นถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้ผมจะไม่ได้เสียเงินอะไรไปมากมายนัก (เงินหายไปไม่กี่ร้อยบาท) แต่เหตุการณ์นี้ก็ทำเอาผมหงุดหงิดปนโมโหในความประมาทของตัวเองไปหลายวันเลยทีเดียว
จากเหตุการณ์นี้เมื่อเชื่อมโยงกลับไปถึงความฝันที่ได้เล่าไปข้างต้นแล้วมันก็ยิ่งบอกถึงความหมายในทางจิตวิเคราะห์ของมันได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ในขณะที่ผีหมายถึงความรู้สึกผิดและการอุ้มหมายถึงการรับผิดชอบอย่างเต็มที่ ดังนั้นการที่ (ในฝัน) รู้ทั้งอยู่แล้วว่าเด็กเป็นผีแต่ก็ยังไม่วายไปอุ้มขึ้นมาบ่งบอกได้ถึงความรู้สึกผิดและการต้องการที่จะรับผิดชอบอันสืบเนื่องมาจากความประมาทของตัวเอง (รู้แล้วว่าเป็นผีก็ยังผ่าอุ้มขึ้นมาได้) ส่วนพระนั้นเป็นข้อความที่จิตใต้สำนึกส่งขึ้นมาเตือนตัวเอง โดยเชื่อมโยงไปถึงความไม่ประมาทหรือการมีสติ (พระ) นั่นเอง
จากเรื่องราวทั้งหลายทั้งปวงที่เล่ามาเสียยืดยาวนี้ จะเห็นว่าสำหรับจิตวิทยาแบบจิตวิเคราะห์แล้ว ทุกๆ ความฝันที่เกิดขึ้นในระบบประสาทของเรานั้นล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงไปยังสภาพอารมณ์ส่วนลึกของจิตใต้สำนึกอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้นหากคุณมีความฝันครั้งต่อไป (และบังเอิญว่าจำได้ไม่ลืมมันไปเสียก่อน) ลองเอาความฝันมาวิเคราะห์ดู บางทีอาจจะพบบางสิ่งใต้สำนึกกำลังพยายามจะบอกเราก็ได้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น