วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

พันห้ากับห้าพัน ...ก็แค่วิธีการตั้งคำถาม

                “ทำงานทั้งวันได้พันห้า เดินไปเดินมาได้ห้าพัน” เพลงเก่าเพลงหนึ่งของยอดรักสลักใจเขาว่าอย่างนั้น แต่ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่ผมว่าเพลงนี้ไม่ดีหรือเนื้อหาเพลงนี้ไม่ดีตรงไหน ในตรงกันข้ามผมกลับรู้สึกว่าเพลงนี้ช่างประชดประชันกัดจิกคนในสังคมได้ดีชมัดโดยเฉพาะในสังคมองค์กรใหญ่ๆ พังแล้วก็อดอมยิ้มไปเสียไม่ได้ทุกที

                แต่ก็นั่นแหละ ถ้ามองอย่าง NLP แล้วผมก็ไม่แปลกใจเลยที่ผู้คนจำนวนมากได้รับการตอบแทนอย่างสาสมจากการทำงานแทบไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวันด้วยอัตตา “พันห้า” ตลอดกาลอย่างไม่เห็นอนาคตแทนที่พวกเขาจะได้ “ห้าพัน” ตามที่ควรจะได้
                ทำไมถึงว่าอย่างนั้น เหตุผลน่ะเหรอครับ

                ผมอยากจะบอกว่า เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นก็ตามไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นปัญหาเล็กน้อยหรือเป็นปัญหาใหญ่ชนิดคอขาดบาดตาย ผู้คนจำนวนมากในสังคมถูกฝึกให้เคยชินกับการตอบสนองปัญหาเหล่านั้นโดยพุ่งความสนใจไปที่ “ข้างนอก” แทนที่จะเป็นมองไปที่ “ข้างใน”


                ข้างนอกในที่นี้ผมหมายถึงอะไรต่อมิอะไรก็ตามทีมันไม่ใช่ตัวเราหรือมันไม่เกี่ยวกับตัวเรา เช่นสมมุติว่าเราทำงานอยู่ทั้งวันทำงกๆ ตั้งเช้ายันดึกในที่สุดเราก็ได้ค่าตอบแทนในระดับ “พันห้า” แน่นอนว่าเราย่อมไม่พอใจ เรารู้ดีหรืออย่างน้อยเราก็หวังว่าค่าตัวของเรามันควรจะมากไปกว่านั้น แต่ผลลัพธ์มันกลับไม่ใช่ ในกรณีนี้ดูเหมือนว่าการทำงานงกๆ กับค่าตัวพันห้าจะเป็นปัญหาของใหญ่เรา

แล้วมาเราว่าคุณตอบสนองต่อปัญหานี้อย่างไร เราเริ่มต้นมองหาบางสิ่งที่เราผิดพลาดหรือเปล่า เรามองหาบางสิ่งที่เราควรปรับปรุงหรือเปล่า เรามองเข้าไป “ข้างใน” ตัวของเราเพื่อหาบางสิ่งที่ผิดปรกติหรือเปล่า

                เปล่าเลย

                เรามักจะเคยชินที่มองไปที่บางสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาหรืออย่างน้อยก็ดูเหมือนว่ามันจะเป็นปัญหา เรามองไปที่ไหนล่ะ เรามองไปที่เส้นสาย เรามองมองไปที่โอกาสที่ไม่เท่ากันในสังคม เรามองไปที่ดวงชะตา เรามองไปที่เวรกรรมจากชาติที่แล้ว เรามองไปที่การมุ่งร้ายของคนอื่น เรามองไปที่ความใจจืดใจดำของเจ้านาย หรือไม่ก็มองไปไอ้คนที่เดินไปเดินมาแต่ได้ “ห้าพัน” นั่นแหละว่ามันเลว มันขี้ประจบ วันๆ ไม่เห็นจะทำอะไรไหนซักแค่ไหนแต่ไหงได้ตั้งห้าพันไม่สมงามที่ทำ

                ผมขอถามง่ายๆ ว่าการมองออกไปข้างนอกแบบนี้มันให้อะไรกับเราได้บ้างหรือไม่

เอาอย่างงี้ สมมุติว่าเราคุณเสียอยู่กลางทางมีควันขโมงออกมาจากห้องเครื่องยนต์ การที่เรามองไปที่ต้นไม้ มองไปที่ป้ายจราจร หรือมองไปที่รถคันอื่นที่กำลังวิ่งไปวิ่งมานั้นมันช่วยอะไรในการแก้ไขปัญหาของเราได้บ้าง เปล่าเลยมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยแม้แต่น้อย ในกรณีนี้เราควรจะทำก็คือการมองไปที่ห้องเครื่องยนต์ของคุณเป็นอย่างแรกแล้วมองหาว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตรวจสอบหาบางสิ่งที่เป็นปัญหาของเราอย่างแท้จริง เมื่อพบต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงแล้วการจะแก้ปัญหากันอย่างไรก็จะเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่จะตามมาเองโดยอัตโนมัติ สำหรับปัญหาในชีวิตของเราความจริงมันก็ไม่ต่างไปจากควันขโมงที่หน้ารถเท่าไหร่หรอก

เราต้องเปิดฝากระโปงขึ้นมาแล้วมองหาปัญหาของเราอยุ่ที่ตรงไหน ไม่ใช่ไปมองที่รถคันอื่นว่าทำไมมันวิ่งได้

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นประการแรกที่คุณควรทำคือการมองเข้าไปในตนเอง สำรวจว่าเกิดอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดไปแล้วเราจะแก้ปัญหาอย่างไร จงอย่าตั้งถามว่า “ทำไมฉันจึงได้แค่พันห้า” อย่าถามถามว่า “ทำไมไอ้หมอนั่นมันถึงได้ห้าพัน” แต่จงเลือกที่จะถามว่า “ทำอย่างไรฉันถึงจะได้ห้าพัน” ถ้าคุณถามว่า “ทำไมฉันจึงได้พันห้า” คุณจะได้รับเหตุผลที่ว่าทำไมคุณจึงสมควรที่จะได้รับผลตอบแทนแค่นั้นก็พอ ถ้าคุณถามว่า“ทำไมไอ้หมอนั่นมันถึงได้ห้าพัน” คุณจะไม่ได้รับคำตอบอะไรเลยนอกจากแต่ความเจ็บกระดองใจเอาไว้ทรมานตัวเองเล่นๆ

แต่ถ้าคุณเลือกที่จะถามว่า “ทำอย่างไรฉันถึงจะได้ห้าพัน” คุณก็จะได้คำตอบว่าทำอย่างไรคุณถึงจะได้ห้าพันเอาไว้ในครอบครอง

เรื่องมันก็ง่ายๆ แค่นี้เองครับ ผลลัพธ์มันอยู่เพียงแค่วิธีการตั้งคำถามของคุณก้เท่านั้นเอง








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น