วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผมเพิ่งกลับมาจากลัดดาแลนด์ (ตอนที่ 1)

ในฐานะของนัก NLP ผมค้นพบว่าครอบครัวของตัวละครในเรื่องลัดดาแลนด์นี้ล้มเหลวที่สุดก็คือเรื่องของการ “สื่อสาร” ความยากลำบากนานาประการที่ครอบครัวนี้เผชิญความจริงมันไม่ได้เกิดจากผีๆสางๆในหมู่บ้านหรอกครับ แต่มันเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของคนในบ้านนั้นต่างหาก (ผีเป็นแรงเสริมที่ทำให้ทุกอย่างมันพังเร็วขึ้นเท่านั้น)


พ่อก็มีวิธีการสื่อสารแบบของพ่อ แม่ก็มีวิธีการสื่อสารแบบของแม่ ลูกสาวก็มีรูปแบบของตัวเอง ทุกคนต่างก็มีวิธีการสื่อสารของตัวเองที่จะสื่อสารความรู้สึกความต้องการของตัวเองออกไปยังรอบข้าง ต่อเหตุการณ์เดียวกันที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกันต่างคนต่างมีวิธีการเสื่อสารในแบบของตัวเอง

...แต่สิ่งที่แต่ละคนพยามสื่อสารออกมามันขัดแย้งกัน ปัญหามันเกิด

หลักพื้นฐานของ NLP ข้อหนึ่งกล่าวว่า “ความหมายของการสื่อสารที่แท้จริงไม่ใช่สาระของถ้อยคำที่เราส่งออกไปยังผู้อื่น หากแต่หมายถึงปฏิกริยาที่ผู้อื่นตอบสนองต่อเราเมื่อได้รับการสื่อสารนั้นต่างหาก” อธิบายง่ายๆ ก็คือถ้าวันหนึ่งคุณเดินไปพบสาวคนหนึ่ง คุณอาจจะกล่าวทักทายโดยชมหล่อนว่า “แต่งตัวสวยจังเลยคุณ” ซึ่งในบางโอกาสคุณอาจจะได้รับการตอบสนองกลับมาว่า “เสือก!”

คำว่าสื่อสารในนิยามของ NLP ไม่ได้มีเพียงถ้อยคำต่างๆ ที่เราพูดออกไป หรือลักษณะท่าทางภาษากายที่เราแสดงออก หากแต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวคุณหรือเกี่ยวข้องกับตัวคุณ และสิ่งๆ นั้นกำลังได้รับการตีความหมายจากบุคคลอื่น การที่สามีเดินขึ้นไปเห็นเตียงยับๆ นั่นเป็นสื่อสารไปยังสามีและทำให้สามีตีความว่า “เมียมีชู้” การที่ลูกสาวบอกพ่อว่าถูกผีหลอกทำให้พ่อเกิดการตีความว่า “โกหก” และการที่พ่อพยามจะแสดงความเป็นผู้นำด้วยการลากลูกสาวให้เข้าไปบ้านผีสิงทำให้ลูกสาวตีความว่า “พ่อไม่รัก” ...และอื่นๆ อีกมากมายที่ได้แสดงให้เห็นแล้วในภาพยนตร์เรื่องนี้

NLP มองการสื่อสารของมนุษย์ว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหยุดหรือทำให้ไม่เกิดได้ ส่วนการตีความหมายก็เป็นรูปแบบเฉพาะบุคคล

NLP อธิบายว่าสำหรับเหตุการณ์ใดๆก็ตาม แต่ละบุคคลต่างก็มีรูปแบบความเข้าใจและตีความต่อเหตุการณ์นั้นแตกต่างกันออกไป วิธีการที่แต่ละบุคคลจะตีความหมายต่อเหตุการณ์ใดๆ นี้ NLP เรียกว่า “แผนที่”(Map) เมื่อได้ประสบกับสิ่งใดก็ตามแต่ละบุคคคลต่างการตีความหมายต่อสิ่งนั้นๆ โดยอาศัยประสบการณ์และข้อมูลดั้งเดิมที่สะสมอยู่ในสมองและระบบประสาท คล้ายกับการที่แต่ละคนมองแห่งพื้นที่ๆ หนึ่งแล้วพยามเขียนแผนที่ของพื้นที่นั้นๆ ขึ้นมา แต่เนื่องจากแต่ละคนมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ มีทักษะทางศิลปะไม่เท่ากันดังนั้นแผนที่ของแต่ละคนจึงย่อมที่จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

ครอบครับพี่ก้องในลัดดาแลนด์ความจริงแล้วก็เป็นครอบครัวที่รักกันดี พ่อเป็นพ่อบ้านที่ดีหนักเอาเบาสู้เพื่ออนาคตครอบครัว แม่ก็เป็นแม่บ้านที่ดี ลูกๆ ก็เป็นลูกๆ ที่ดี ...แต่ที่ไม่ดีคือแต่ละคนถือแผนที่คนล่ะฉบับ ความรักความปรารถนาดีจากคนๆ หนึ่งจึงถูกตีความว่าเป็นสิ่งที่ “แย่” จากอีกคนหนึ่งได้เสมอ

ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาความสัมพันธ์ขึ้นที่ใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือในองค์กรใดก็ตาม นัก NLP เสนอว่าสิ่งแรกที่คุณควรพิจรนาก็คือ บุคคลต่างๆ ในเหตุการณ์นั้นถือ “แผนที่” ฉบับเดียวกันหรือไม่ ทำอย่างไรที่จะทำให้แต่ละคนปรับแต่งแผนที่ของตัวเองให้ตรงกันกับคนอื่นๆ มากที่สุด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเข้าใจและรู้จักการแยกแยะก่อนว่าปัญาที่เกิดขึ้นนั้นมันเกิดจากเหตุการณ์จริงๆ หรือเป็นเพียงปัญหาที่แผนที่ของแต่ละบุคคลเอง

เมื่อแผนที่ของแต่ละบุคคลค่อยๆ ถูกปรับแต่งให้มาตรงกันหรือใกล้เคียงกัน ปัญหาความสัมพันธ์ก็จะค่อยๆ ลดลงไปเอง ...แล้วเราจะปรับแต่งแผนที่ของแต่ละบถคคลให้ตรงกันได้อย่างไร คำตอบก็คือ

“การสื่อสาร” ครับ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น