วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Phobia ... ความกลัวที่ไร้เหตุผล

ความกลัวเป็นการตอบสนองทางระบบประสาทขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ สัญชาติญาณการเอาตัวรอดผลักดันให้ระบบประสาทสร้างสภาวะอารมณ์กลัวขึ้นเพื่อให้กระตุ้นให้มนุษย์หลีกห่างจากอันตรายหรือสิ่งที่อาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่นเมื่อ 4 ล้านกว่าปีก่อนครั้งมนุษย์ยังคงดำรงอยู่ในป่าไม่ต่างไปจากลิง มนุษย์ย่อมถูกจระเข้คาบไปกินนักต่อนักแล้ว ดังนั้นเพื่อไม่ให้มนุษยชาติถูกจระเข้คาบไปกินจนหมด ระบบประสาทของมนุษย์จึงต้องสร้างสภาพอารมณ์กลัวขึ้นทุกครั้งที่มนุษย์มองเห็นจระเข้หรือระแคะระคายว่าอาจจะมีจระเข้อยู่บริเวณนี้


โดยปรกติแล้วมนุษย์จะเกิดความกลัวได้สองประการด้วยกันโดยทั้งสองประการล้วนเกี่ยวพันธ์กับความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตทั้งสิ้น ประการที่หนึ่งคือกลัวสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความไม่รู้ ในเมื่อไม่รู้แน่ว่าจะปลอดภัยหรือไม่จึงคำนวนเผื่อไว้ก่อนว่าสิ่งนั้นอาจจะอันตรายได้ และประการที่สองก็คือกลัวเพราะประจักษ์แจ้งแล้วว่าสิ่งนั้นอันตรายต่อชีวิตแน่ๆ

ดังนั้นจึงไม่แปลกถ้าหากใครซักคนหนึ่งจะกลัวเมื่อกระโดดตูมลงไปในสระว่ายน้ำแล้วบังเอิญไปเห็นจระเข้ตัวใหญ่แอบงีบอยู่ที่ก้นสระ หรือเราอาจจะกลัวไม่กล้าลงไปไหว้น้ำเล่นในคลองเพราะได้ยินข่าวว่าช่วงน้ำท่วมที่ผ่านมีจระเข้หลุดลงคลองไปหลายตัว

แต่ในหลายกรณี...ความกลัวกลับเกิดขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผล

คนบางคนอาจจะกลัวเข็มหมุดอันเล็กๆ กลัวกล้วยหอม กลัวความสูง กลัวที่แคบ กลัวกระดุม กลัวเปลือกเงาะแห้ง กลัวลูกเจี๊ยบ กลัวกระต่าย กลัวสามแยก และกลัวได้อีกหลายอย่างที่ดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผล ทั้งๆ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถประจักษ์แจ้งได้ทั้งสิ้นว่าไม่มีอันตรายต่อชีวิตเหมือนอย่างจรเข้ตัวโตๆ แต่ใครก็ตามที่มีอาการกลัวในลักษณะอย่างนี้เขาก็ห้ามใจห้ามระบบประสาทไม่ให้กลัวสิ่งเหล่านี้ได้จริงๆ

นอกจากจะห้ามไม่ให้กลัวไม่ได้แล้วความกลัวที่เกิดขึ้นยังมีมากมายมหาศาลเกิดกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้อีกต่างหาก บางคนเพียงแต่มองเห็นนกตัวเล็กๆ ก็อาจจะร้องกรี๊ดลงไปชักดิ้นชักงอบนพื้นหรือวิ่งหนีกระโดดพุ่งออกจากหน้าต่างอย่างไม่คิดชีวิต บางคนเพียงแต่คิดถึงผีเสื้อตัวเล็กๆ บินมาเกาะที่แขนก็อาจจะร้องไห้ตัวสั่นไม่สามารถควบคุมตัวเองเอาไว้ได้อีกต่อไป

ในทางจิตวิทยาเราเรียกอาการกลัวอย่างรุนแรงและไร้เหตุผลเหล่านี้ว่า โฟเบีย” (Phobia)

โฟเบียนั้นหมายถึงอาการกลัวอย่างรุนแรงไร้ขีดจำกัด และไร้เหตุผล โดยปรกติเราจะแบ่งโฟเบียออกเป็นสองลักษณะใหญ่ด้วยกัน นั่นก็คือ Specific Phobia และ Social Phobia โดย Specific Phobia นั้นหมายถึงอาการกลัวต่อสิ่งหนึ่งสิ่งโดยเฉพาะ เช่น กลัวสัตว์ กลัวแมลง กลัวสิ่งของ ส่วน Social Phobia นั้นหมายถึงอาการกลัวที่เกิดจากการตอบสนองต่อสังคม  เช่น กลัวการอยู่ในที่ๆ มีคนมาก กลัวการพูดต่อคนจำนวนมาก กลัวการรู้จักคนแปลกหน้า หรือกลัวการพูดคุยกับคนอื่นเป็นต้น

สาเหตุอันเป็นปฐมเหตุที่แท้จริงของการเกิดอาการโฟเบียนั้นความจริงแล้วยังไม่สู้จะแน่ชัดนัก แต่จากการวินิจฉัยโดยทั่วไปแล้วพบว่าอาการโฟเบียเกือบจะทั้งหมดเกิดจากการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลเองทั้งสิ้น เช่นกลัวทะเลเพราะเคยนั่งเล่นน้ำทะเลแล้วถูกคลื่นซัดจมน้ำ กลัวนกเพราะเคยโดนฝูกนกรุมทึ้งตอนกำลังโปรยอาหารนก หรือกลัวที่แคบเพราะเคยติดอยู่ในลิฟทั้งคืน อะไรทำนองอย่างนี้เป็นต้น

มาถึงตรงนี้แล้วคงต้องกล่าวต่อไปว่า ความจริงแล้วมนุษย์แต่ละคนต่างก็ใช้เวลาทั้งชีวิตในการเรียนรู้อยู่แล้ว ทุกๆ วัน ทุกๆ เวลาเราเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งใดอันตรายหรือไม่อันตราย หลายๆ คนคงเคยถูกมีดบาดหรือเคยถูกสุนัขกัด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เกิดอาการโฟเบียกลัวมีดหรือกลัวสุนัขแต่อย่างใด นอกจากจะไม่กลัวแล้วหนำซ้ำยังเรียนรู้อีกว่าจะใช้มีดให้ปลอดภัยขึ้นได้อย่างไรหรือจะเล่นกับสุนัขอย่างไรไม่ให้มันกัดเอาได้

คำถามก็คือว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เป็นโฟเบีย

คำตอบของคำถามนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่กลไกการเรียนรู้ของมนุษย์ ตามทฤษฏีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ได้แบ่งจิต (ผลจากการทำงานของสมองและระบบประสาท) ออกเป็นสองส่วนสำคัญ เรียกว่าจิตสำนึก (Conscious Mind) และจิตใต้สำนึก (Subconscious Mind) โดยจิตสำนึกนั้นก็คือความรู้สึกนึกคิดในส่วนที่เป็นตรรกะเหตุผล และจิตใต้สำนึกนั้นเป็นส่วนของสภาพอารมณ์และสัญชาติญาณ

โดยปกติแล้วทุกๆ ประสบการณ์ของมนุษย์จะถูกบันทึกและเก็บไปสร้างเป็นส่วนที่เราเรียกว่าจิตสำนึก โดยจิตสำนึกเองจะทำหน้าที่เป็นตัวกรองไม่ให้จิตใต้สำนึกเกิดการเรียนรู้ที่มากเกินไปนัก ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตใต้สำนึกทำงานโดยปราศจากเหตุผลอันจะส่งผลถึงการอยู่รวมกันเป็นสังคมของมนุษย์ได้

แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จะทำให้จิตใต้สำนึกมีเงื่อนไขที่เหมาะสมที่จะได้รับการเรียนรู้โดยตรงเช่นกัน เช่น
  •             ช่วงเวลาในวัยเด็ก (จิตสำนึกหรือตัวกรองข้อมุลยังไม่พัฒนาเต็มที่)
  •             บุคลิกภาพเฉพาะตัวบางอย่าง เช่นบุคคลที่มีบุคลิกอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าภายนอกได้ง่าย หรือบุคคลที่มีบุคลิกแบบสมบูรณ์ แบบ (Perfectionist) เป็นต้น
  •             การเรียนรู้ต่อประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของชีวิตอย่างรุนแรง
  •             การเรียนรู้ในช่วงเวลาที่จิตสำนึกลดบทบาทการทำงานลง
  •             การเรียนรู้ซ้ำ

ดังนั้นหากบุคคลใดก็ตามเกิดได้ประสบกับเหตุการณ์ที่จะทำให้ได้เกิดการเรียนรู้ที่จะกลัวต่อบางสิ่งในช่วงเวลาที่มีเงื่อนไขอันเหมาะสมดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ การเรียนรู้นั้นก็จะเกิดการฝักรากลึกลงไปในส่วนของจิตใต้สำนึกและพัฒนาขึ้นเป็นอาการของโฟเบียอย่างไม่ยากเลย

แบบนี้แล้วเราควรทำอย่าไร อาการโฟเบียจะสามารถบำบัดรักษาได้หรือไม่

คำตอบก็คือว่าอาการโฟเบียนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้อย่างแน่นอน ขอเพียงให้ผู้ที่เป็นโฟเบียนั้นตระหนักได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวเขาเองและพร้อมที่จะเข้ารับการบำบัดปัญหาอย่างแท้จริงเท่านั้น โดยการบำบัดรักษาอาการโฟเบียที่เป็นที่ยอมรับในสากลประเทศว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด นุ่มนวลที่สุด และได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่งก็คือ ...

การสะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy)

การสะกดจิตสามารถบำบัดอาการโฟเบียได้อย่างไร หลักการนั้นก็เช่นเดียวกับการเกิดของโฟเบียคือโฟเบียนั้นเกิดจากการเรียนรู้ที่จะกลัวในช่วงเวลาที่มีเงื่อนไขเหมาะสม ทำให้การเรียนรู้นั้นพัฒนาขึ้นมาเป็นโฟเบีย ดังนั้นสิ่งที่นักสะกดจิตจะทำก็คือ การสร้างเงื่อนไขการเรียนรู้เพื่อเปิดช่องทางการเรียนรู้ให้กับจิตใต้สำนึก จากนั้นจึงทำการป้อนข้อมูลเพื่อให้จิตใต้สำนึกเกิดการเรียนรู้ใหม่ เรียนรู้ที่จะรู้จักว่าสิ่งที่เขากลัวอยู่เดิมนั้นเป็นความกลัวที่ไม่สมเหตุสมผล เป็นความกลัวที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อเจ้าตัวเลย เมื่อเกิดการยอมรับต่อสิ่งที่เคยกลัวและเกิดการเรียนรู้ในระดับจิตใต้สำนึกว่าสิ่งนี้ไม่ควรกลัวหรือความกลัวได้หมดสิ้นไปเช่นนี้แล้ว อาการโฟเบียจึงบรรเทาเบาบางลงไปจนกระทั้งหมดไปในที่สุด นี่จึงนับว่าเป็นการบำบัดโดยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยแท้จริง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น