มีหลักการพื้นฐานของ NLP ข้อหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับทุกๆ ปัญหา การมีทางเลือกสำหรับใช้เป็นทางออกของปัญหานั้น ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี” เรื่องนี้ถ้านึกถึงตอนที่เราออกไปซื้อของข้างนอกเราก็จะสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายครับ
เช่นผมอยากได้รองเท้าออกกลังกายสักหนึ่งคู่ สมมุติว่าปัญหาของผมคือผมต้องการรองเท้าออกกำลังกายสำหรับไปรำมวยจีนที่สวนลุมซักหนึ่งคู่ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผมไปที่ร้านขายรองเท้าแล้วพบว่าในร้านมีแต่รองเท้าแตะกับรองเท้าส้นสูง และถ้าเราลองบีบเงื่อนไขอีกว่าผมจำเป็นที่จะต้องเลือก ผลก็คงเป็นว่าผมอาจจะได้คีบรองเท้าแตะไปรำมวยจีนแน่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เข้าท่าเลยด้วยประการทั้งปวง ดังนั้นมันจะดีกว่านี้อีกถ้ามันมีตัวเลือกอย่างอื่นอีกมากกว่าแค่รองเท้าแตะกับรองเท้าส้นสูง ยิ่งมีตัวเลือกให้เลือกมากเท่าไหร่ชีวิตของผมก็ยิ่งง่ายขึ้น เพราะความจริงแล้วคำตอบที่น่าเข้าท่าที่สุดสำหรับปัญหาของผมก็คือรองเท้ากีฬาพื้นบางดีๆ ซักคู่
นั่นคือสาเหตุที่ว่าทำไมคนจึงเลือกที่จะไปร้านใหญ่ๆ หรือห้างใหญ่ๆ ก่อนร้านหรือห้างเล็กๆ สาเหตุจริงๆ ก็เพราะว่าเรารู้สึกดีกว่าที่เราได้มี “ตัวเลือก” (Choice) นั่นเอง
และไม่ว่าจะเป็นปัญหาง่ายๆ อย่างการซื้อรองเท้าหรือปัญหาหนักอกหนักใจอย่างปัญหาธุรกิจหรือปัญหาครอบครัว ระบบประสาทของเราก็จะตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้เหมือนๆ กันคือ “สร้างทางเลือกจำนวนมากขึ้นมาเพื่อเลือกเอาเพียงหนึ่งเดียวมาเป็นคำตอบของปัญหา” และก็มาสูตรเดียวกับปัญหาซื้อรองเท่านั้นนั่นแหละครับ คือยิ่งมีให้เลือกมากมันก็ยิ่งดี และถึงแม้ว่าว่าคำตอบที่มีให้เลือกอาจจะไม่ได้มีแบบที่เลิศเลอสมบูรณ์แบบจริงๆ แต่การที่มีทางเลือกให้เราเลือกมากเข้าไว้มันก็ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรให้เลือกมากนัก
แต่ปัญหาก็คือ บ่อยครั้งที่ปัญหาของเราก็ไม่ได้มีตัวเลือกให้เราเลือกได้มาก ยิ่งปัญหานั้นเป็นที่หนักอกหนักใจมากเท่าไหร่ก็ดูเหมือนกับว่าตัวเลือกมันถูกทำให้ลดน้อยถอยลงไปจนถึงกับว่าบางปัญหานั้นเราแทบจะไม่มีอะไรให้เลือกกันเลย
จำนวนของตัวเลือกต่อปัญหาที่เราต้องเผชิญอยู่นั้น นัก NLP ค้นพบว่านอกจากจะอยู่ที่รายละเอียดของตัวปัญหาเองแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ตัวเลือกของเราถูกลดลงอย่างฮวบฮาบก็คือ “สภาพอารมณ์ของตัวเราเอง”
สภาพอารมณ์ (Emotion) นั้นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อจำนวนตัวเลือกโดยตรง ยิ่งในขณะนั้นระบบประสาทประสาทของเราตกอยู่ภายในสภาพอารมณ์ใดๆ (ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์) มากเท่าใด จำนวนตัวเลือกในสมองของเราก็ยิ่งมีปริมาณลดลงเท่านั้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสภาพอารมณ์นั้นเป็นผลอันสืบเนื่องมากจิตใต้สำนึกซึ่งทำงานโดยปราศจากตรรกะ ในขณะที่ทางเลือกหรือตัวเลือกต่างๆ ที่สมองสร้างขึ้นมานั้นเป็นผลมาจากจิตสำนึกซึ่งทำงานแบบตรรกะ ดังนั้นยิ่งสภาพอารมณ์ถูกสร้างขึ้นมาเท่าไรก็หมายความว่าจิตใต้สำนึกกำลังตื่นตัวและทำงานมากเท่านั้น ในภาวะแบบนี้จิตสำนึกจะถูกจิตใต้สำนึกเบียดบังการทำงานโยตรง ทำให้ในช่วงเวลาที่เรามีปริมาณของสภาพอารมณ์มากๆ ในสมองเราจึงไม่ค่อยจะมีตรรกะเหลืออยู่เท่าไหร่นัก
ขอให้สังเกตว่าคนที่อารมณ์ดีมากๆ มักจะ “อะไรก็ได้” (อะไรก็ดีไปหมด) ส่วนคนที่อารมณ์ไม่ดีนั้นก็มักจะ “อะไรก็ได้” (อะไรก็ไปเอามา!) เหมือนกัน ถึงแม้ว่าในรายละเอียดของคำว่าอะไรก็ได้ระหว่างคนอารมณ์ดีกับอารมณ์ไม่ดีมันแตกต่างกันแต่โดยกลไกแล้วมันเกิดจากเหตุผลเดียวกัน นั่นก็คือความบกพร่องลงของการทำงานเชิงตรรกะของสมอง
นี่จึงเป็นสาเหตุที่นัก NLP เสนอว่า เมื่อใดก็ตามที่เราประสบกับปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหาธุรกิจ ครอบครัว สุขภาพ หรืออื่นใดก็ตาม สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือการตัดตัวเองให้ขาดออกจากสภาพอารมณ์ เพราะสภาพอารมณ์นั้นเองจะเป็นตัวขัดขวางกระบวนการวิเคราะห์และค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริงของเรา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น