การทำจิตบำบัดนั้นมีมานมนานตาปี มีมากมายหลายวิธีหนักหนา ทั้งนี้เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ประกอบไปด้วยกายและใจ การเจ็บป่วยจึงเกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่ง คือ ไม่ป่วยกายก็ป่วยใจ หรืออาจเกิดพร้อมกันทั้ง 2 ส่วนก็ได้ Satir Model เป็นจิตบำบัดแนวหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะหลังซึ่งค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพสูง จนได้รับความนิยมอย่างมาก
Satir Model ได้รับแนวคิดมากจาก Virginia Satir ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกหลักของสาขา Family Therapy ที่มองครอบครัวอย่างเป็นระบบ โดยสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวจะมีผลต่อสมาชิกคนอื่น ๆ และมีส่วนทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้นหรือแย่ลงด้วย โดยจะให้ความสำคัญทั้งประสบการณ์ภายในจิตใจของแต่ละคน (intrapsychic) และ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interaction) โดย Satir Model เป็นแนวคิดเชิงบำบัดที่มีพื้นฐานการตั้งเป้าหมาย ให้เกิดการเจริญเติบโตในทางบวก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ เพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าของตน สามารถเป็นผู้ที่ตัดสินใจได้เอง ให้เป็นคนที่สามารถรับผิดชอบต่ออารมณ์และความรู้สึก และช่วยให้เป็นคนที่มีความสอดคล้องกลมกลืน และจริงใจต่อความรู้สึกของตนเอง ยอมรับตัวเอง
ความเชื่อพื้นฐาน (Therapeutic Beliefs)
เป็นความเชื่อที่ Satir ให้ค่าว่าเป็นหลักในการทำงานกับมนุษย์ เพื่อการปรับตัวและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความเชื่อนี้บางออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ความเชื่อเกี่ยวกับคน ความเชื่อเกี่ยวกับการปรับตัว และ ความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง
ความเชื่อเกี่ยวกับคน
1. คนแต่ละคนเป็นผลลัพธ์การแสดงออกที่พิเศษของพลังชีวิต ที่เหมือนกันทุกคน และมนุษย์เชื่อมโยงกันโดยพลังชีวิตนี้ (สมาชิกให้กำลังใจแก่กัน)
2. ความเป็นมนุษย์นั้น “เป็นสากล” ดังนั้นจึง “ใช้ได้” กับทุกสถานที่ วัฒนธรรม และสถานการณ์
3. ความเหมือนกันทำให้คนชอบกัน ความแตกต่างทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนา
4. พ่อแม่มักเลี้ยงลูกในแบบที่ตนถูกพ่อแม่ของตนเลี้ยงมา แม้ว่าแบบแผนนั้นจะใช้ไม่ได้ผลดีก็ตาม
5. คนส่วนใหญ่ทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ณ เวลานั้น
6. คนทุกคนเป็นคนดี แต่เขาจะต้องค้นศักยภาพของตนเองให้พบ เพื่อเป็นการเชื่อมโยงและยืนยันคุณค่าของตนเอง
7. ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณค่าที่เท่าเทียมกัน
8. เราเป็นเจ้าของอารมณ์ เรามีอารมณ์ และ เราสามารถเรียนรู้ที่จะเป็นนายของอารมณ์ตนเอง
ความเชื่อเกี่ยวกับการปรับตัว
1. ทุกคนมีทรัพยากรอยู่ภายใน เพื่อใช้ปรับตัวห้ำเร็จ และเพื่อการเติบโตเจริญงอกงาม
2. การปรับตัวของคนมักเป็นวิธีที่เขาใช้รักษาตนเองให้อยู่รอดจากประสบการณ์ที่เจ็บปวด
3. ปัญหาไม่ใช่ปัญหา วิธีการจัดการกับปัญหา (การปรับตัว) ต่างหากที่เป็นปัญหา
4. การปรับตัวเป็นการแสดงถึงระดับความมีคุณค่าของตนเอง
ความเชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง
1. การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปได้เสมอ แม้การเปลี่ยนแปลงภายนอกจะจำกัด แต่การเปลี่ยนแปลงภายในนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
2. เราเปลี่ยนอดีตไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนผลกระทบจากอดีตได้
3. ความหวังเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลง
4. กระบวนการ (process) เป็นหนทางสำหรับการเปลี่ยนแปลง เรื่องราวเป็นบริบทที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
5. คนส่วนใหญ่เลือกความเคยชินมากกว่าการเปลี่ยนแปลง ที่จะทำให้ดีขึ้น
6. การชื่นชมและการยอมรับอดีต ช่วยให้เพิ่มความสามารถในการจัดการกับอนาคต
7. ให้ยอมรับพ่อแม่ว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มากกว่า บทบาท ของความเป็นพ่อแม่
8. การบำบัดควรเน้นที่ส่วนดีและความเป็นไปได้แทนการเน้นที่ปัญหาที่เกิดขึ้น
9. การบำบัดจำเป็นต้องเป็นแนวบวกและมีจุดมุ่งหมาย
10. อาการเป็นผลของการแก้ปัญหาโดยจิตใต้สำนึก
11. ผู้บำบัดควรเรียนรู้การช่วยเหลือจากประสบการณ์ของตนเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น