วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555

Murray Bowen - Nuclear Family Emotional System (ระบบอารมณ์ของครอบครัวเดี่ยว)

            ครอบครัวเดี่ยว คือ ครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก

Bowen ได้กล่าวเอาไว้ว่ามนุษย์เรานั้นมักจะเลือกคู่ที่มีระดับความเป็นตัวของตัวเองพอ ๆ กับที่ตัวเองเป็น หรือมีส่วนที่คล้ายกับพ่อหรือแม่ของตัวเอง หากคนสองคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองต่ำมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ก็มีแนวโน้มที่จะสร้างครอบครัวที่มีลักษณะแบบเดียวกับตนขึ้นมา นั่นหมายถึงว่าลูกก็จะกลายเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองต่ำเช่นกัน


            Bowen ได้กำหนด pattern ของระบบอารมณ์ในครอบครัวเดี่ยวนี้ออกมา 4 ประการได้แก่

1. Marital Conflict ตามที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้วว่า มนุษย์เรานั้นมักจะเลือกคู่ที่ทำให้ตนมีความรู้สึกที่เท่าเทียมกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบอีกฝ่ายก็จะทำให้ตนรู้สึกเหนือกว่าฝ่าย หรือหากมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายหนึ่งรู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับจากอีกฝ่ายก็จะทำให้ตนรู้สึกด้อยกว่าอีกฝ่าย เหตุการณ์เหล่านี้จะนำพาไปซึ่งความขัดแย้งของคู่สมรส เช่น ภรรยาที่เคยทำงานในตำแหน่งที่สูงเป็นที่นับหน้าถือตาและมีความสำคัญในองค์กร แต่พอแต่งงานแล้วตนต้องออกจากงานมาดูแลลูก ก็จะทำให้ตนรู้สึกด้อยกว่าสามีที่ยังทำงานอยู่ ความรู้สึกด้อยนี้เป็นตัวที่ก่อให้เกิดความรู้สึกห่างเหินจากกันและกัน

2. Dysfunction in a Spouse เมื่อคู่แต่งงานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามที่จะบังคับหรือโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเห็นด้วยกับความคิดหรือความรู้สึกของตนเอง อีกฝ่ายจะรู้สึกถึงความอึดอัดและไม่สบายใจ หากเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปฝ่ายที่ด้อยกว่าจะต้องแสวงหาหนทางเพื่อระบายความรู้สึกอึดอัดที่อยู่ในใจออกไป ไม่ว่าจะเป็นทางความคิด (จิต) (เช่น คิดหมกมุ่นฟุ้งซ่านตลอดเวลา) ทางร่างกาย (เช่น มีอาการคัน ปวดท้อง ปวดศรีษะ) หรือแม้กระทั่งทางพฤติกรรม (เช่น สามีพยายามทำงานดึก ๆ เพื่อที่จะไม่ต้องกลับมาเจอภรรยาที่ขี้บ่น)

3. Projection in a Child เมื่อคู่สมรสมีปัญหาทางความรู้สึกต่อกัน พวกเขาจะเอาความอึดอัดคับข้องใจไปลงกับลูกของตนเองทั้งทางบวกและทางลบ ยิ่งพ่อแม่พยายามพุ่งความสนใจไปที่เด็กมากเท่าไหร่ เด็กก็จะยิ่งมีความเป็นตัวของตัวเองน้อยลงเท่านั้น เพราะเด็กจะกลายเป็นศูนย์รวมของความคาดหวัง ทัศนคติ และความต้องการของพ่อแม่ เด็กเป็นเสมือนแพะรับบาปทางความรู้สึกของพ่อแม่ ความรู้สึกอึดอัดของเด็กอาจส่งผลต่อผลการเรียน การเข้าสังคม และสุขภาพได้ในที่สุด

4. Emotional Distance เมื่อบุคคลมีความรู้สึกอึดอัดใจยามที่อยู่กับครอบครัวของตน นานวันเข้าความรู้สึกอึดอัดใจนี้จะยิ่งสะสมและทวีคูณมากยิ่งขึ้น ก่อให้ตนไม่ต้องการที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้ใดไม่ว่าจะในทางไหนทั้งสิ้น จนกระทั่งพยายามปลีกตัวเองออกจากสังคม กรณีร้ายแรงที่สุดก็คือการปลิดชีวิตของตัวเอง

หากครอบครัวหลีกเลี่ยงไม่ยอมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะส่งผลต่อบุคลิกภาพของลูกในอนาคต ทำให้เด็กโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มั่นคงและไม่เป็นตัวของตัวเอง และก็จะเลือกคู่ที่มีระดับทางความคิดเหมือนกับตนเอง และเมื่อมีลูก เด็กก็จะเป็นเด็กที่ไม่เป็นตัวของตัวเองไปในที่สุดเช่นกัน 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น