วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

พื้นฐานการให้คำปรึกษา (ตอนที่ 1)

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงและการเสื่อมของศีลธรรมเริ่มมาเยือนมนุษย์มากขึ้นเช่นนี้ก่อให้เกิดความเครียดต่าง ๆ นานาในจิตใจของคนหลาย ๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน การเงิน ความรัก ครอบครัว เพื่อน สังคม ฯลฯ คนบางคนรู้ว่าปัญหาของตนเองคืออะไรและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหานั้น ๆ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดความทุกข์ที่วนเวียนอยู่ในจิตใจไม่รู้จบจนบางรายกระทบไปถึงสุขภาพกายก็มี ดังนั้นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจหรือการให้คำปรึกษานั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสังคมกับสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อมีการสำรวจว่าคนไทยมีความเครียด และอัตราการตายสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง




แต่ใช่ว่าทุก ๆ คนจะสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีได้ทุกคน คาร์ล โรเจอร์ นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาเจ้าของทฤษฎี Client-Centered ได้เขียนบทความถึงเงื่อนไขที่จำเป็นและพอเพียงในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบุคลิกภาพและจิตใจ เงื่อนไขเหล่านี้ได้แก่ การเข้าถึงจิตใจ (Empathy) การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Positive Regard) และ ความสอดคล้อง (Congruence) โดยทั้งสามข้อนี้ถือเป็นหัวใจของการให้คำปรึกษาทีเดียว

สำหรับหัวใจข้อแรกของการให้คำปรึกษาซึ่งก็คือ การเข้าถึงจิตใจของผู้รับการให้คำปรึกษา หมายถึง กระบวนการที่ผู้ให้คำปรึกษาพยายามที่จะเข้าใจความรู้สึก ข้อมูล และประสบการณ์ที่ผู้รับการให้คำปรึกษาพยายามสื่อออกมา วิธีที่จะสามารถเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของผู้รับการให้คำปรึกษาได้นั้นมีดังนี้ การรับฟังอย่างตั้งใจ การหัดสังเกตุ การทวนประโยค การสะท้อนความรู้สึก การรู้จักแยกประเด็น การถามคำถาม และ การสรุป ซึ่งจะกล่าวในช่วงต่อไปว่าวิธีเหล่านี้หมายความถึงอะไร ทั้งนี้จุดมุ่งหมายสำคัญของการใช้วิธีการเหล่านี้ก็คือ การทำให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษารับรู้ได้ว่าผู้ให้คำปรึกษานั้นเข้าใจความรู้สึกของเขาแล้วนั่นเอง

การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขนั้นเป็นหัวใจสำคัญข้อที่สองของการให้คำปรึกษา สำหรับหัวใจข้อนี้ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องไม่พยายามยัดเยียดความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมของตนเองให้กับผู้เข้ารับคำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษาต้องไม่ตัดสินว่าการกระทำและความคิดของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษานั้นถูกหรือผิด แต่จะต้องเคารพในความคิดและความเชื่อของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาว่าเขาเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวกับตนที่มีอิสระสามารถคิดนึกและเข้าใจได้ตามที่เขาต้องการ การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้สามารถช่วยให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาเป็นตัวของตัวเอง สามารถเปิดเผยความคิดและความรู้สึกที่อยู่ในจิตใจของเขาออกมาให้ผู้ให้คำปรึกษาทราบได้อย่างเต็มที่ หากผู้ให้คำปรึกษาสามารถยอมรับความคิดและความรู้สึกของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาก็จะเข้าใจได้ว่าผู้ให้คำปรึกษานั้นเคารพและให้คุณค่าในตัวเขามากกว่าสิ่งที่เห็นจากพฤติกรรมภายนอก การกระทำเช่นนี้สามารถสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาและผู้ให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีประโยชน์ต่อการให้คำปรึกษาอย่างมาก หากผู้ให้คำปรึกษาสามารถแสดงหัวใจข้อนี้ได้อย่างสมบูรณ์ เขาจะสามารถแสดงให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาเห็นได้ถึงความเมตตาและความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ที่มีจุดอ่อนมากมายของเขาได้

หัวใจข้อสุดท้ายคือความสอดคล้อง ซึ่งแบ่งเป็นสองมิติคือ มิติของที่ผู้ให้คำปรึกษามีให้แก่ตนเอง และมิติของที่ผู้เข้าให้คำปรึกษามีให้ต่อผู้เข้ารับการให้คำปรึกษา สำหรับมิติของที่ผู้ให้คำปรึกษามีให้แก่ตนเอง นั้น ความสอดคล้องจะหมายถึงการตระหนักรู้ถึงความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง และกล้ายอมรับว่าตนเองมีข้อบกพร่อง เช่น "ผมไม่ค่อยมีความรู้เรื่องสายงานของคุณเสียเท่าไหร่ คุณจะช่วยอธิบายให้ผมเข้าใจเพิ่มมากขึ้นหน่อยจะได้ไหมครับ" ในส่วนมิติของที่ผู้เข้าให้คำปรึกษามีให้ต่อผู้เข้ารับการให้คำปรึกษา นั้น ความสอดคล้องจะหมายถึงการที่เขาได้แสดงตัวตนที่แท้จริงของเขาให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาได้รู้จัก โดยไม่มีการเสแสร้าง แกล้งทำ ปากพูดอย่างหนึ่งแต่ในใจคิดอีกอย่างหนึ่งโดยเด็ดขาด ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีความซื่อสัตย์ในตนเอง มีความสอดคล้องทั้งคำพูดและการกระทำ และสามารถสื่อสารความจริงใจให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษารับทราบได้อย่างชัดเจน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น