วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

Karen Horney: Defense Mechanism

ฮอร์ไนได้กล่าวถึงกลไกในการป้องกันตัวเอง 7 อย่าง ซึ่งพวกที่เป็นโรคประสาทใช้แก้ความขัดแย้งในใจและแก้ปัญหามนุษยสัมพันธ์ ดังต่อไปนี้

1. จุดบอด (Blind spots) หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมคนเป็นโรคประสาทจึงไม่สามารถรับรู้ว่ามีความแตกต่างระหว่างตัวตนที่แท้จริงกับตัวตนในฝัน พวกเป็นโรคประสาทดูเหมือนจะมีจุดบอด (blind spots) ซึ่งปิดกั้นไม่ให้เห็นความขัดแย้งที่เห็นชัด ตามความคิดเห็นของฮอร์ไน เหตุผลก็คือพวกเป็นโรคประสาทมักจะชินชาอย่างมากต่อประสบการณ์ พวกเขาไม่รู้สึกอีกแล้ว




2. การแบ่งภาค (Compartmentalization) กลไกป้องกันตัวเองที่เรียกว่า การแบ่งภาค หมายถึง การแยกความเชื่อ หรือการกระทำออกเป็นส่วนๆ เพื่อไม่ให้มามีความขัดแย้งกัน ยกตัวย่างเช่น สมาชิกคลู คลักซ์ คลาน (Ku Klux Klan) อาจมีความเชื่อว่าตัวเองเป็นชาวคริสต์ และชาวคริสต์จะต้องรักและอดทนกับมนุษย์ แต่คนดำนั้นเป็นสัตว์ ดังนั้นจึงไม่ใช่คน เพราะฉะนั้นเขาจึงเกลียดและทำร้ายคนดำได้โดยไม่รู้สึกขัดแย้งระหว่างการกระทำและความเชื่อ ในเรื่องนี้เขาได้พยายามแบ่งประเภทของคน เพื่อใช้ในการทำร้ายคนที่เขาคิดว่าไม่ใช่คน โดยการสะท้อนความชั่วของตัวเองใส่ผู้อื่น

3. การแก้ตัว (rationalization) เป็นรูปแบบของการหลอกตัวเองชนิดหนึ่งซึ่งเป็นการใช้เหตุผลเพื่อแก้ตัวให้กับความอ่อนแอและความล้มเหลว สำหรับพวกเป็นโรคประสาทที่ก้าวร้าวจะมองว่าความสำนึกผิดและความรู้สึกสงสารผู้อื่นเป็นความอ่อนแอ ดังนั้นถ้าบุคคลประเภทนี้ส่งดอกไม้ให้แม่หม้ายซึ่งเป็นภรรยาของเพื่อนเก่าของเขา เพื่อแสดงความเสียใจ เขาจะบอกว่าเขาเพียงทำตามหน้าที่

4. การควบคุมตัวเองเกินเหตุ (Excessive self-control) คนเป็นโรคประสาทมักจะถูกขับให้ควบคุมตัวเองอย่างหนัก บุคคลที่ควบคุมตัวเองจะไม่ยอมปล่อยอารมณ์ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความกระตือรือร้น ความตื่นเต้นทางเซ็กส์ การสงสารตัวเอง หรือการแสดงความโกรธ ในขณะที่บำบัดจิต พวกเขามีความลำบากมากที่จะเล่าความในใจ พวกเขาจะไม่แตะเหล้าและบ่อยครั้งยอมทนปวดมากกว่าที่จะทานยาแก้ปวด สรุปแล้วก็คือว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่ยอมแสดงความรู้สึกแบบธรรมชาติ
เนื่องจากการกระทำที่ทำลายกันมากที่สุดเกิดจากความโกรธ ดังนั้นคนเป็นโรคประสาทจึงใช้พลังส่วนใหญ่ในการควบคุมความโกรธ แต่การกระทำดังกล่าวได้สร้างวงจรร้าย (vicious circle) กล่าวคือ การควบคุมอารมณ์โกรธทำให้ยิ่งโกรธมากขึ้นในใจโดยไม่รู้ตัว และทำให้ยิ่งต้องควบคุมหนักเข้าอีก

5. ความถูกต้องที่ไร้กฎ (Arbitrary rightness) คุณลักษณะของคนเป็นโรคประสาทก็คือช่างสงสัยและตัดสินใจไม่ได้ เนื่องจากความรู้สึกเหล่านี้แย่มาก คนเป็นโรคประสาทก็เลยใช้วิธีแสดงความถูกต้องอย่างไม่มีเหตุผลซึ่งมักอาศัยสูตรสำเร็จประกาศความถูกต้อง

6. การหลบอย่างฉลาด (Elusiveness) คนเป็นโรคประสาทที่ใช้วิธีหลบหลีกอย่างฉลาดเพื่อปกป้องตัวเองนั้นจะเป็นที่จับไม่ได้เลย ไม่ว่าจะพูดอย่างไร คนเหล่านี้จะบอกว่าไม่ได้พูดหรือคนอื่นตีความผิด คนเป็นโรคประสาทแบบชอบหลบหลีกจะพูดอ้อมค้อมตลอดเวลาละไม่สามารถให้หลักฐานที่แท้จริงของเรื่องที่เล่า ผลก็คือคนฟังจะสับสนไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเกิดอะไรขึ้น
ฮอร์ไน กล่าวว่า ชีวิตของคนเป็นโรคประสาท ก็สับสนเหมือนการพูดจา บางครั้งคนเหล่านี้จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่พออีกทีก็เอาแต่ใจตัวอย่างมาก บางครั้งเขาก็แสดงอำนาจ แต่พออีกทีก็ถ่อมตัวอย่างมาก เนื่องจากมีความขัดแย้งดังกล่าว ทำให้ยากแก่การที่นักบำบัดจิตจะแนะแนวให้เขารู้เกี่ยวกับความขัดแย้ง

7. การถากถาง (Cynicism) วิธีป้องกันจิตของตัวเองโดยการถากถางนั้นเกี่ยวเนื่องกับการปฏิเสธและเยาะเย้ยค่านิยมทางศีลธรรม ทั้งนี้ บุคคลที่เป็นโรคประสาทมักเป็นนักเล็งผลปฏิบัติ (Machiavellian) พวกเขาเชื่อว่าไว้ใจคนไม่ได้ และพวกเขาคิดว่าตัวเองจะทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ถูกจับ พวกเขาเป็นมนุษย์ที่ชอบเอาเปรียบและไม่มีหลักการสรุปแล้วก็คือ วิธีการปกป้องตัวเองที่ไร้เหตุผลเหล่านี้สามารถช่วยให้สามารถรักษาภาพในอุดมคติชั่วคราวโดยการหลอกตัวเอง ทำให้ไม่สามารถมีพัฒนาการที่แข็งแรงตามปกติได้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น