วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

Sigmund Freud: โครงสร้างบุคลิกภาพ

ฟรอยด์อธิบายว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคคลที่แสดงออกมานั้นสืบเนื่องมาจากการทำงานของพลังงานทางจิต 3 ส่วน ซึ่งพลังทั้ง 3 ส่วนนี้มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ก็มีอิทธิพลต่อกันและกันทำงานร่วมกัน ถ้าหากการทำงานของจิตทั้ง 3 ส่วนนี้สามารถทำงานได้สอดคล้องประสานกันกลมกลืนได้เป็นอย่างดี ก็จะส่งผลให้พฤติกรรมของบุคคลนั้น ๆ ถูกแสดงออกมาเป็นปกติและเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี แต่หากพลังงานทั้ง 3 นี้เกิดความขัดแย้งกันรุนแรงเมื่อใด ก็จะส่งผลให้บุคคลนั้น ๆ ก่อพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์หรือก่อให้เกิดปัญหาทางจิตแก่ตนได้ ทั้งนี้พลังงานทางจิตทั้ง 3 ส่วนมีดังนี้


1. อิด (Id) เป็นพลังงานส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ทั้งความอยาก ความต้องการ กิเลศ ตัณหา รวมไปถึงสัญชาตญาณทั้งหลายที่สิ่งมีชีวิตพึงมี ทั้งหมดนี้มักเกี่ยวพันกับการสนองความปรารถนาทางกาย เป็นพลังที่มีเพื่อให้ได้มาซึ่งความพอใจ โดยพลังส่วนนี้จะไม่คำนึงถึงความถูกต้องหรือเหตุผลของความเป็นจริง ดังนั้นพลังของอิดจึงมีชื่อเรียกอีกแบบว่า พลังการแสวงหาความสุข (Pleasure Seeking Principle) เช่น เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศแล้วเห็นผู้หญิงเดินผ่าน ก็ฉุดมาข่มขืนเลย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าอิดอาศัยอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกตลอด

ในวัยเด็กนั้นพลังของอิดจะมีแรงผลักดันสูงมากกว่าพลังส่วนอื่น หากเด็กถูกขัดขวางไม่ให้อิดได้รับการตอบสนองหรือทำให้เกิดความพึงพอใจ จะส่งผลร้ายต่อพัฒนาการด้านบุคลิกภาพในเวลาต่อมา เช่น ถูกบังคับให้หย่านมก่อนวัยอันควร เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบนินทาว่าร้ายผู้อื่น
ฟรอยด์ได้กล่าวว่าอิดของบุคคลนั้นเกิดจากสัญชาตญาณ 2 ประเภท ได้แก่
  • สัญชาตญาณแห่งการดำรงชีวิตอยู่ (life instinct) เป็นสัญชาตญาณเพื่อเอาชีวิตรอดและการดำรงเผ่าพันธุ์ เช่น ความหิว ความกระหาย ความต้องการทางเพศ สามารถพูดได้ว่าเป็นสัญชาตญาณที่กระตุ้นให้บุคคลเกิดการแสวงหามาซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความสุข และ ความพึงพอใจแก่ตน ในบรรดาสัญชาตญาณเหล่านี้ ฟรอยด์ได้ให้ความสำคัญกับความต้องการทางเพศมากที่สุด แต่ในความหมายของความต้องการทางเพศของฟรอยด์นั้นมิได้หมายความถึงความสุขจากการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ฟรอยด์ได้หมายรวมถึงความต้องการความสุข ความพอใจ และความสะดวกสบายทุก ๆ อย่าง เช่น ต้องการนั่งรถคันใหญ่ ๆ หรู ๆ สบาย ๆ มีแอร์เย็น ๆ หรือ ต้องการนั่งเครื่องบินในชั้น first class เพื่อให้มีคนมาคอยบริการดี ๆ ได้รับประทานอาหารดี ๆ และมีสิทธิพิเศษเหนือคนอื่น
  • สัญชาตญาณแห่งความตาย (death instinct) ฟรอยด์ได้อธิบายว่าในส่วนลึก ๆ ของจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกคนนั้นปรารถนาที่จะตาย เนื่องจากมนุษย์ตระหนักดีว่าเป้าหมายสุดท้ายของชีวิตคือความตาย ลักษณะที่เด่นชัดของสัญชาตญาณชนิดนี้คือ แรงกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว ทำลาย เป็นตัวกระตุ้นให้บุคคลเกิดการแข่งขัน เอาชนะ ต่อสู้ ท้าทาย โดยที่ฟรอยด์ได้ให้ความสำคัญกับความก้าวร้าวมากที่สุด


ในช่วงแรกฟรอยด์เชื่อว่าสัญชาตญาณที่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุดได้แก่ความต้องการทางเพศ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟรอยด์เปลี่ยนความคิด เขาเริ่มเชื่อว่าสัญชาตญาณทั้ง 2 ชนิดนี้มีอิทธิพลต่อมนุษย์พอ ๆ กัน

2. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) เป็นพลังงานส่วนที่เกิดจากการเรียนรู้ถึงกฎระเบียบ กติกา กฎหมาย ศีลธรรม เป็นส่วนที่คอยเตือนบุคคลให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ซึ่ง ณ ทีนี้สามารถกล่าวได้ว่าซุปเปอร์อีโก้คือศีลธรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีระดับของซุปเปอร์อีโก้ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูและสังคมแวดล้อมที่บุคคลนั้น ๆ เติบโตขึ้นมา จึงสามารถพูดได้ว่าซุปเปอร์อีโก้อาศัยอยู่ในจิตทั้ง 3 ระดับ

3. อีโก้ (Ego) เป็นพลังงานส่วนของความรู้และความเข้าใจ การใช้เหตุผล การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย และ การแสวงหาวิธีการเพื่อตอบสนองความต้องการของอิดโดยที่ไม่ไปขัดกับสิ่งที่ซุปเปอร์อีโก้กำหนดไว้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ เมื่อความต้องการของอิดขัดกับข้อกำหนดของซุปเปอร์อีโก้ อีโก้จะเป็นผู้ประนีประนอมและ ช่วยแสวงหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายได้ เช่น เกิดความต้องการทางเพศ แต่แทนที่จะไปข่มขืนผู้หญิง กลับหันไปใช้แรงในการออกกำลังกายแทน ดังนั้นอีโก้จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่ถูกเรียกว่า พลังงานส่วนรู้ความจริง (Reality Principle)

โดยทั่วไปแล้วพลังงานทั้งสามนี้จะขัดแย้งกันอยู่เสมอ โดยอิดจะพยายามผลักดันให้อีโก้ตอบสนองความต้องการของอิด ในขณะที่ซุปเปอร์อีโก้ก็จะคอยเตือนอีโก้ให้รับรู้ว่าการกระทำนั้น ๆ ถูกหรือผิด อีกทั้งพยายามดึงไม่ให้อีโก้ตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของอิดทุกเรื่อง ฟรอยด์อธิบายว่าลักษณะบุคลิกภาพของคนเกิดจากการทำงานร่วมกันของพลังทั้ง 3 ส่วนนี้ คือ พลังใดมีอิทธิพลเหนือพลังอื่นย่อมเป็นตัวบ่งชี้ลักษณะบุคลิกภาพของคน ๆ นั้น เช่น ถ้าพลังอิดมีอำนาจสูง คน ๆ นั้นก็จะมีบุคลิกภาพที่เป็นเด็กไม่รู้จักโต เอาแต่ใจตัวเอง หากอีโก้มีอำนาจสูง คน ๆ นั้นก็จะเป็นคนที่มีเหตุมีผล เป็นนักปฏิบัติ และ หากซุปเปอร์อีโก้มีอำนาจสูง คน ๆ นั้นก็จะกลายเป็นนักอุดมคติ หรือนักทฤษฎี

อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่อิดกับซุปเปอร์อีโก้เกิดความขัดแย้งกันมากเกินไป อีโก้จะพยายามประนีประนอมสถานการณ์เพื่อลดความขัดแย้งนั้น ๆ ลง ซึ่งการตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายด้วยการใช้วิธีการปรับตัวเรียกว่า กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) ซึ่งจะมีผลทำให้บุคคลนั้นรู้สึกผ่อนคลายสภาวะความขัดแย้งของพลังงานทางจิตขณะนั้นลงได้ชั่วขณะหนึ่ง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น