วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

George Kelly: Introduction

สิ่งที่ทำให้ George A. Kelly ต่างจากนักจิตวิทยามนุษยนิยมคนอื่น ๆ ก็คือ Kelly เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์เข้ากับวิทยาศาสตร์ Kelly ไม่ได้มองพฤติกรรมทางวิทยาศาสตร์ในฐานะที่ไม่เป็นธรรมชาติ แต่เขาเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์คือต้องการที่จะ "ทำนาย" และ "ควบคุม" เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องเหมือนที่นักวิทยาศาสตร์ทำ เพราะฉะนั้นจิตวิทยาของ Kelly จึงเป็นผลจากการพยายามค้นหาการเป็นวิทยาศาสตร์ในความเป็นมนุษย์




Kelly เน้นว่าพฤติกรรมใด ๆของบุคคลมิได้เกิดจากสิ่งแวดล้อมและพันธุกรรมเท่านั้น แต่เกิดจาก ทัศนคติ ความคิดความคาดหวัง และความเชื่อ ซึ่งมีอิทธิพลมากกว่า 2 ประการแรก คำอธิบายเรื่อง Personal Construct เนื้อหามีความหลากมิติทางจิตวิทยา จนทำให้มีการถกเถียงกันมากว่า ควรจัดกลุ่มแนวคิดของเขาอยู่ในกลุ่มใด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวคิดหลัก ๆ ของเขาแล้ว นักจิตวิทยาสมัยใหม่ได้จัดแนวคิดของเขาอยู่ในกลุ่มปัญญานิยม (Cognitive Theory)

Constructive Alternativism (ทางเลือกที่สร้างสรรค์)

เราสามารถจะกล่าวได้ว่าแนวคิดของ Constructive Alternativism นี้เป็นจุดสำคัญของทฤษฎีของ Kelly สามารถตีความหมายหมายถึง "มนุษย์ทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนการตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้" ซึ่งหมายความว่าพฤติกรรมของเราไม่เคยถูกกำหนดเอาไว้ตายตัวร้อยเปอร์เซนต์ มนุษย์มีอิสระที่จะแปลความหมายของประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เสมอ นอกจากนี้ความคิดและพฤติกรรมของเราบางส่วนนั้นถูกกำหนดโดยปรากฏการณ์อื่น ๆ เช่น พนักงานประจำคนหนึ่งต้องการที่จะได้โบนัสสิ้นปีอย่างน้อย 3 เดือน เธอจึงทุ่มเทเวลาทั้งหมดของเธอไปกับการทำงาน และพยายามเป็นคนที่ละเอียด รอบคอบ สร้างสรรค์ เพื่อให้หัวหน้าของเธอรู้ได้ว่าเธอสมควรจะได้โบนัสอย่างน้อย 3 เดือนตามที่เธอต้องการ

ทั้งนี้เราจะเห็นได้ว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกเป้าหมายให้กับชีวิตของตน และทันทีที่ตนได้เลือกเป้าหมายแล้ว เป้าหมายนั้น ๆ จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

นอกจากนี้แล้วความเป็นจริงของสิ่งใด ๆ เกิดจากการตีความของเราซึ่งต่าง ๆ กันไป เช่น เด็กไปโรงเรียนสาย พ่อเด็กอาจตีความว่าเกิดจากความเกียจคร้านของเด็ก แม่เด็กอาจตีความว่า เป็นเพราะเด็กใจลอย ครูอาจจะตีความว่าเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือและต้องการแก้แค้น เพื่อนของเด็กอาจคิดว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือเด็กอาจนึกว่าการมาสายเป็นการเสียหน้า จะเห็นได้ว่าตัวอย่างที่ได้ยกมากล่าวข้างต้นเป็นตัวอย่างง่าย ๆ แต่ในความเป็นจริงเราตีความเหตุการณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ผู้อื่น และสังคมสลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้น (ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์การชุมนุมปิดแยกราชประสงค์)

มนุษย์ทุกคนคือ "นักวิทยาศาสตร์"

Kelly เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะมนุษย์นั้นมักจะพยายามคาดเดาและควบคุมเหตุการณ์ในชีวิตตลอดเวลา โดยที่บุคคลจะพยายามประเมินประสบการณ์ที่เกิดขึ้น และตีความเพื่อให้เข้าใจสิ่งนั้น ๆ และสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ พฤติกรรมของมนุษย์นั้นสามารถตั้งเป็น "ทฤษฎี" ได้ เราสามารถทดสอบสมมุติฐานโดยอาศัยทฤษฎีที่เราตั้งขึ้น แล้วก็ชั่งน้ำหนักหลักฐานที่ได้ทดลองมา หลักฐานเหล่านี้เป็นตัวช่วยให้เราสามารถคาดเดาสถานการ์ณที่จะเกิดได้มากขึ้น หรือสามารถทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่าเราต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

ตัวอย่างเช่น เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างทำให้เราเสียขวัญ เราก็พยายามประพฤติตัวที่จะป้องกันตนเอง ถ้าวิธีการที่เราใช้ปกป้องตัวเองทำให้เราเผชิญเหตุการณ์ได้เราก็จะนำวิธีการนั้น ๆ มาใช้ ถ้าวิธีการนั้น ๆ ใช้ไม่ได้ผลเราก็จะเปลี่ยนแปลงแสวงหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่า กระบวนการเหล่านั้นเป็นการตั้งสมมติฐาน คาดเดาผลลัพธ์ และพิสูจน์สมมติฐาน ในการพิจารณาและแสวงหาวิธีการเพื่อพิสูจน์สมมติฐานนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุการณ์จริงเสมอไป บางครั้งเราก็แสวงหา สร้างเหตุการณ์ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือตัดสินว่า โครงสร้างนั้นถูกต้องหรือผิดพลาด

จะเห็นได้ว่า Kelly มีจุดยืนของนักทฤษฎีกลุ่ม Humanism อยู่ ที่เชื่อว่ามนุษย์เราไม่ใช่วิ่งมีชีวิตที่อยู่เฉย ๆ แต่มนุษย์ยังมีสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมแบบ active และบ่อยครั้งก็เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อชีวิตของตนเอง
ธรรมชาติของความคิดและการคิด (Constructs)

การตีความหรือความคิดที่เราสร้างขึ้นและนำไปประยุกต์ใช้กับประสบการณ์ใหม่นั้นมักจะมีมูลเหตุขึ้นอยู่กับประสบการณ์เก่าที่เรามี Kelly มีแนวคิดว่าความคิดคือวิธีการจัดการประสบการณ์ในแง่ของการจัดความเหมือนและความต่าง ความคิดนั้นจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสามส่วน ในขณะเดียวกันความคิดก็มีสองขั้นคือ ความเหมือนและความต่าง เช่น การที่จะบอกได้ว่านางสาวเอฉลาด แสดงว่าจะต้องมีคนอื่นที่โง่กว่า จึงจะสามารถเปรียบเทียบได้

ความคิดนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว คนหลายคนจึงอาจเรียกประสบการณ์แบบเดียวกันด้วยชื่อที่ต่างกัน เช่น แมรี่คิดว่าจอห์นเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีอยู่ด้วยแล้วน่าสบายใจ ส่วนเดซี่คิดว่าจอห์นเป็นคนที่ยอมคนอื่นและพึ่งคนอื่นมาก ในขณะเดียวกันแม้ชื่อของเหตุการณ์จะเหมือนกัน แต่ความหมายก็อาจจะตรงข้ามกันได้ เช่น บิลและจิมบอกว่าพฤติกรรมบางอย่างนั้น "จริงใจ" และบิลอาจะคิดว่าสิ่งที่ตรงข้ามก็คือ "ความไม่จริงใจ" ส่วนจิมบอกว่าเป็น "ความเสื่อมทางศีลธรรม" ดังนั้นแล้วเมื่อบิลเจอคนที่เขาคิดว่าไม่จริงใจ เขาอาจจะไม่ชอบนิดหน่อย แต่เมื่อจิมเจอคนแบบเดียวกันเค้าอาจจะโกรธและเกลียดสิ่งนั้นได้ เมื่อการตีความต่างกัน พฤติกรรมที่มีต่อสิ่งที่ตนคิดจึงต่างกัน บิลอาจะใช้เหตุผลเจรจากับคนไม่จริงใจ แต่จิมอาจไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วยกับคนที่เสื่อมศีลธรรมไปเลย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น