วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

Sigmund Freud: Defense Mechanism (ตอนที่ 2)

II. แบบหนีสถานการณ์ (Withdrawal Reaction)
แบบหนีสถานการณ์หมายถึงการปรับตัวโดยการใช้วิธีการใด ๆ ทำให้ตนเองพ้นไปจากต้นตอของปัญหาที่เป็นเหตุของความทุกข์ ซึ่งแบ่งเป็น


1. การเก็บกด (Repression) เป็นวิธีการที่ใช้ในกรณีที่ตนต้องการจะลืมปัญหา บุคคล ประสบการณ์ร้าย ๆ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ โดยการเก็บกดต้นเหตุของปัญหานั้น ๆ ลงไปสู่จิตใต้สำนึก ไม่ให้ตนเองจำได้ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากความรู้สึกที่มากระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ลูกโดนแม่ตีตั้งแต่เด็ก ๆ โดยที่ตนไม่ได้ทำผิด แต่ทำอะไรไม่ได้จึงซ่อนความคับข้องใจนั้น ๆ ลงไปในจิตใต้สำนึก เพื่อให้ตนเองลืมความรู้สึกไม่พอใจแม่ตัวเองไป

2. การฝันกลางวัน (Fantasy) พบว่าสำหรับบุคคลที่ใช้กลวิธีการป้องกันตัวแบบนี้มักเป็นคนที่ประสบกับความผิดหวัง หรือล้มเหลวในชีวิตประจำ หรือมีความคาดหวังในชีวิตสูงเกินไปซึ่งไม่อาจทำให้เป็นจริงได้ ดังนั้นเพื่อทำให้ตนเองพ้นจากสภาวะที่เป็นทุกข์นี้จึงเลือกใช้วิธีฝันกลางวัน เพ้อฝัน สร้างจินตนาการเพื่อตอบสนองความปรารถนาของตนที่ไม่มีวันเป็นไปได้ เช่น เรียนไม่เก่ง สอบตกเป็นประจำ แต่ฝันอยากจะมีเงินเดือนสูง ๆ ได้ทำงานตำแหน่งดี ๆ เป็นวิธีการที่คนทั่วไปมักนิยมใช้กันมาก เพราะช่วยลดความเครียดได้ดี





3. การถดถอย (Regression) กลวิธีนี้ใช้ในกรณีที่บุคคลไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการของตนจนทำให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น จึงหันไปแสดงพฤติกรรมที่เคยกระทำสมัยที่เป็นเด็ก ๆ ที่เมื่อทำแล้วได้รับการตอบสนองหรือสมหวัง เช่น กระทืบเท้า ร้องไห้งอแง กัดเล็บ ปัสสาวะรดที่นอน หรือถ้าอยู่ในวัยผู้ใหญ่ก็สามารถรวมไปถึงการหันกลับไปแต่งตัวเลียนแบบเด็กหรือวัยรุ่น เนื่องจากวิธีนี้ผู้ใช้มักเป็นผู้ที่ขาดความรัก ความอบอุ่น และการขาดความเอาใจใส่ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เช่น ผู้หญิงมีอายุแล้วแต่กลับใส่เสื้อสายเดี่ยว นุ่งกระโปรงผ่าสูง แสดงท่าทางราวกับวัยรุ่น

4. การหลบหนี (Withdrawal) เป็นวิธีการหนีจากสถานการณ์ที่สร้างความทุกข์ ยิ่งหนีไปได้ห่างเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น เช่น อกหักจากคนรักที่ทำงานที่เดียวกันจึงลาออกจากงาน บางครั้งรุนแรงถึงขั้นแยกตัวจากสังคมไปอยู่ตามลำพัง ไม่สนใจรับรู้โลกภายนอก ซึ่งเป็นอาการของโรคจิตเภทประเภทหลีกหนีสังคม (schizophrenia) ขั้นร้ายแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ผู้ที่ใช้กลวิธีการป้องกันตัวแบบนี้มักเป็นผู้ที่ถูกเลี้ยงดูแบบไม่มีการฝึกให้รู้จักการแก้ปัญหาตั้งแต่เด็ก มีความอ่อนแอทางจิตใจ ท้อถอยง่ายเมื่อพบกับอุปสรรคเป็นต้น

5. การต่อต้าน (Negativism) เป็นวิธีการเลี่ยงสถานการณ์แบบหนึ่ง โดยการใช้วิธีต่อต้าน ขัดขืน คัดค้านต่อสาเหตุที่ทำให้ทุกข์ ด้วยการไม่ให้ความร่วมมือ ปฏิเสธข้อตกลงทุกอย่าง และคัดค้านทุกเรื่อง คนที่ใช้กลวิธีนี้มักมีลักษณะคล้ายกับผู้ที่ใช้กลวิธีการถดถอย คือเป็นคนที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ขาดความรัก วิธีนี้จึงเป็นวิธีการเรียกร้องความเอาใจใส่จากสังคม เช่น ถ้าพ่อสั่งให้ทำงานบ้านก็จะไม่ทำ ขัดขืนคำสั่งทุกอย่างของพ่อเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อ

6. การปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง (Denial) การปรับตัววิธีนี้เนื่องจากเหตุการณ์ที่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงจนตัวเองรับความเป็นจริงไม่ได้ จึงไม่ยอมรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น คนรักเสียชีวิต แต่กลับคิดและทำเหมือนเขายังมีชีวิตอยู่ ฟรอยด์ถือว่ากลวิธีการปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงนี้เป็นกลวิธีการป้องกันตัวเองที่มีระดับรุนแรงมากที่สุด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น