ฮอร์ไนกล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ทำให้คนเสียความเชื่อมั่นที่แท้จริง และขับให้คนต้องใช้กลไกในการป้องกันตัวเอง เพื่อเผชิญกับผู้อื่น เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ใช้พลังทางจิตส่วนใหญ่ในการปกป้องสภาวะจิตของตัวเอง จึงไม่มีการพัฒนาตัวตนที่แท้จริง สำหรับพวกเขาความปลอดภัยมีความสำคัญมากที่สุด ทำให้ความรู้สึกและความคิดลึกๆ ไม่ได้รับคารมแจ่มชัด จนทำให้บุคคลคนนั้นรู้สึกเบลอ จนทำให้ไม่ได้เป็นนายของชีวิตตนเอง และถูกความต้องการแบบประสาทผลักดันความรู้สึกแปลกแยกจากตัวตนที่แท้จริง ทำให้คนต้องวิ่งหาความมั่นคงและเอกลักษณ์ด้วยการคิดว่าตัวเองสำคัญและมีคุณค่า
วิธีแก้ปัญหาของคนเป็นประสาทคือ การสร้างอัตมโนภาพในอุดมคติ (idealized image) ภาพดังกล่าวทำให้พวกเขามีความสามารถและอำนาจอย่างมหาศาล ในจินตนาการของพวกเขา พวกเขากลายเป็นฮีโร่ เป็นคนฉลาด เป็นนักรักตัวยง เป็นนักบุญ และเป็นเทพเจ้า ภาพเหล่านี้เป็นหนทางในการแก้ความขัดแย้งในใจของพวกเขา สำหรับฮอร์ไน คนเป็นโรคประสาทจะพยายามบรรลุศักยภาพในที่สุดตามตัวตนในอุดมคติที่ตั้งไว้ทำให้ประสบความสำเร็จ มีความรุ่งเรือง และโลดแล่นในโลกภายนอก แต่พวกเขาจะมุ่งหาความสมบูรณ์แบบโดยเชื่อว่าตัวเองทำได้ทุกอย่าง รู้ทุกเรื่องและเหมือน กับคนอื่น ฮอร์ไนเรียกความอยากแบบประสาทนี้ว่า ทรราชของการควรจะ (tyranny of the shoulds) ดังที่เธอกล่าวไว้
เขาควรจะเป็นบุคคลตัวอย่างของความซื่อสัตย์ ความใจกว้าง ความเห็นอกเห็นใจ ความเที่ยงธรรม ศักดิ์ศรี ความกล้าหาญ และความไม่เห็นแก่ตัว เขาควรจะเป็นคนรัก เป็นสามี เป็นครูที่สมบูรณ์แบบ เขาควรจะสามารถทนกับทุกเรื่อง ควรชอบทุกคน ควรรักพ่อแม่ รักภรรยาและรักประเทศชาติ หรือไม่เขาก็จะไม่ผูกพันกับอะไรหรือกับใคร ไม่มีอะไรมีความสำคัญสำหรับเขา เขาไม่ควรที่จะถูกทำร้ายจิตใจง่ายๆ เขาควรจะสงบและไม่ตื่นเต้นโดยง่าย เขาควรมีความสนุขกับชีวิตเสมอ หรือไม่ก็อยู่เหนือความสุขและความสนุก เขาควรจะเป็นธรรมชาติหรือไม่ก็เก็บความรู้สึกเสมอ เขาควรรู้ ควรเข้าใจและกะการล่วงหน้าได้ทุกอย่าง เขาควรสามารถแก้ปัญหาตัวเองได้ทุกเรื่อง หรือแก้ปัญหาทุกเรื่องให้คนอื่น เขาควรจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องทุกครั้งที่เขาเห็นปัญหา เขาควรจะไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยหรือไม่เคยป่วย เขาควรหางานได้เสมอ เขาควรจะสามารถทำงานที่ต้องทำ 2-3 ชั่วโมงให้เสร็จภายในชั่วโมงเดียว
คนเป็นโรคประสาทจะยึดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้เอาไว้ เพราะถ้าทำได้มันก็จะทำให้ความขัดแย้งในใจหายไปและทำให้ไม่เจ็บปวดไม่ต้องร้อนรนใจอีก ปัญหาก็คือว่า การสร้างตัวตนในอุดมคติ (idealized self) กับตัวตนที่แท้จริง (actualself) จะเห็นได้เลยว่าตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเทียบไม่ได้กับตัวคนในอุดมคติ บ่อยครั้งการไร้สมรรถภาพทางเซ็กส์เกิดขึ้นเพราะคนนั้นคิดว่าตัวเองเป็นนักรักตัวยง การลังเลและการพูดตะกุกตะกักในขณะที่ขอให้เจ้านายขึ้นเงินเดือนเป็นการพิสูจน์ว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักพูดตัวฉกาจ การทำงานแรงงานเป็นสิ่งที่เตือนใจตลอดเวลาว่า พวกเขาไม่ได้ทำงานในตำแหน่งที่สูงและไม่ได้ประสบความสำเร็จทางการงาน ผลก็คือว่าความเหลื่อมกันระหว่างตัวตนในอุดมคติและตัวตนที่แท้จริง ทำให้บุคคลที่เป็นโรคประสาทเหล่านี้เหยียดหยามตัวเองและเกลียดตัวเอง แม้พวกเขาจะรู้ผลดังกล่าวพวกเขาก็รู้สึกเป็นปมด้อย ทรมานใจ รู้สึกผิดแต่พวกเขาก็ไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นคนก่อความรู้สึกปวดร้าว และการประเมินด้วยตัวเอง ดังนั้น ความรู้สึกเกลียดตัวเอง จึงเป็นกระบวนการไร้สำนึก แทนที่พวกเขาจะสำรวจตัวเองอย่างแท้จริง พวกเขามีแนวโน้มที่จะหันความเกลียดไปนอกตัว โดยโทษคนอื่น สถาบันข้างนอกหรือไม่ก็โทษชะตากรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น