วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

พื้นฐานการให้คำปรึกษา (ตอนที่ 2)

เคยมีคำกล่าวเอาไว้ว่าความประทับใจครั้งแรกนั้นเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ กระบวนการการให้คำปรึกษาก็เช่นกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจและความสบายใจที่จะยอมเปิดเผยเรื่องราวของตนเองให้ผู้ให้คำปรึกษาฟังนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาจะต้องมี ซึ่งทั้งนี้เป็นหน้าที่ของผู้ให้คำปรึกษาว่าจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่มารับบริการนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เจอหน้ากันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเห็นหน้ากันโดยตรง หรือเพียงแค่ได้ยินเสียงทางโทรศัพท์ การแสดงออกของผู้ให้คำปรึกษาในเวลานั้นจะสามารถส่งผลต่อความรู้สึกของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะท่าทาง ภาษากาย น้ำเสียง ในระหว่างการให้คำปรึกษานั้นผู้ให้คำปรึกษามีหน้าที่ที่จะต้องสร้างบรรยากาศในการรับฟังที่ดี ให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาสามารถถ่ายทอดความรู้สึกออกมาให้ได้มากที่สุด ถ้าพบว่าเขามีปัญหาหลายเรื่อง ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องรับฟังและรวบรวมข้อมูลและสรุปปัญหาเป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งควรจะให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาเป็นผู้เลือกว่าเขาต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องใดก่อน-หลัง

ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้นว่าหัวใจข้อแรกของการให้คำปรึกษาคือการเข้าถึงจิตใจของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษา ซึ่งการจะเข้าถึงหัวใจข้อนี้ได้นั้นผู้ให้คำปรึกษาจะต้องมีทักษะสำคัญได้แก่ ทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อทำให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษากล้าที่จะเล่าเรื่องราวของตนเองมากขึ้น สำหรับการรับฟังอย่างตั้งใจนั้นมีส่วนประกอบที่ดีดังต่อไปนี้




1. การสังเกตุภาษากายของผู้เข้ารับคำปรึกษาและภาษากายของผู้ให้คำปรึกษา ปกติแล้วคนเรานั้นสามารถสื่อสารกันผ่านช่องทางห้าช่อง ได้แก่ ภาษาพูด น้ำเสียง ภาษากาย การสัมผัส และทางพฤติกรรม ซึ่งโดยปกติแล้วภาษากายนั้นจะมีน้ำหนักกับการสื่อสารมากกว่าภาษาพูดถึง 95% ดังนั้นแล้วหากผู้ให้คำปรึกษามีภาษากายที่ดีไม่ปิดกั้นก็จะช่วยทำให้การให้คำปรึกษานั้น ๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะภาษากายสามารถช่วยสื่อสารความรู้สึกของผู้ให้คำปรึกษาที่มีต่อผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาได้อย่างชัดเจน ผู้ให้คำปรึกษาควรมีท่าทางที่ผ่อนคลาย ไม่เครียด และมีภาษากายที่เปิดรับ เช่น ไม่กอดอก ไม่นั่งไขว่ห้าง ไม่ประสานมือเข้าหากัน ไม่ก้มหน้า วางมือไว้ในลักษณะที่ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน มีการโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย มีการสบตาอย่างเหมาะสมไม่ใช่จ้องตาจนเกินไป ใช้การสัมผัสเท่าที่สมควรเมื่อผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาร้องไห้หรืออึดอัดใจอย่างที่สุด และ มีการแสดงออกทางสีหน้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับเรื่องราวที่ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาได้เปิดเผยออกมา ทั้งนี้ผู้ให้คำปรึกษายังมีหน้าที่ที่จะต้องสังเกตภาษากายของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาเช่นกัน เพื่อที่จะได้สามารถวิเคราะห์ความรู้สึกของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาได้อย่างถูกต้อง เช่น หากเขากำมือแล้วถูนิ้วมือตลอดหมายถึงเขารู้สึกเครียดและกังวลใจอย่างที่สุด

2. การทวนความ คือ การทวนประโยคที่ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาได้พูดออกมาในลักษณะที่ต่างออกไปจากเดิมเล็กน้อย หรือ อาจจะพูดซ้ำคำเดิมที่ผู้พูดได้พูดออกมา เพื่อเป็นการย้ำว่าผู้ให้คำปรึกษาเข้าใจและกำลังติดตามเรื่องราวที่ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษากำลังเล่าอยู่ตลอดเวลา เช่น "ฉันมีธุระให้ต้องทำเยอะมาก จะไม่สามาถทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งให้เสร็จได้" ผู้ให้คำปรึกษาจึงทวนความว่า "คุณไม่มีเวลาที่จะทำงานใด ๆ ให้เสร็จเลย" การทวนความนี้มีประโยชน์ตรงที่จะทำให้ผู้ให้คำปรึกษาสามารถจับประเด็นหลักและส่งข้อความกลับไปอย่างชัดเจน กระชับ และไม่เยิ่นเย้อ

3. การสะท้อนความรู้สึก คล้ายกับการทวนความคือ การสะท้อนความรู้สึกเป็นการทวนสรุปทางด้านอารมณ์และความรู้สึกของผู้เข้ารับการให้คำปรึกษา ซึ่งอาจจะถือได้ว่าเป็นทักษะสำคัญที่สุดของการรับฟังอย่างตั้งใจ โดยที่ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องใช้ทักษะในการอ่านภาษากายและน้ำเสียงเข้ามาควบคู่ไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น "คุณกำลังรู้สึกว่า ..." หรือ "คุณดีใจที่ ..." "คุณกังวลที่ ..." ฯลฯ

4. การใช้คำถามที่ดี คำถามที่ดีนั้นควรเป็นคำถามปลายเปิด คือ ถามด้วยคำว่า อะไร อย่างไร เหตุใด ที่ไหน เมื่อไหร่ คำถามปลายเปิดนั้นมีไว้เพื่อช่วยให้ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาสามารถเปิดเผยเรื่องราวของตนเองมากยิ่งขึ้น เมื่อเขาเปิดเผยเรื่องราวของตนเองมากขึ้นก็จะช่วยให้เขาสามารถสำรวจความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้มากขึ้น และจะส่งผลให้เขาเข้าใจตนเองได้มากขึ้นเช่นกัน

5. การสรุป เป็นประโยคสั้น ๆ ที่สรุปรวมเนื้อความทั้งหมดที่ได้พูดตลอดการให้คำปรึกษา การสรุปนั้นจะต้องรวมทั้งการสะท้อนความรู้สึกและการทวนความเพื่อทำความกระจ่างสิ่งที่ผู้เข้ารับการให้คำปรึกษาได้พูดมาตลอดกระบวนการการให้คำปรึกษาครั้งนั้น ๆ การสรุปอาจจะทำเป็นระยะ ๆ ก็ได้เช่นกัน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น