คาเร็น ฮอร์ไน (Karen Horney) เกิดในปี 1885 ที่หมู่บ้านแบลงเค็นนิส (Blankenese)ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทางเหนือของแม่น้ำเอ็ลป์ (Elbe River) ห่างจากทางตะวันตกของกรุงแฮมเบอร์ก เยอรมันประมาณ 12 ไมล์ คุณพ่อของเธอช อ เบอร์นท์ แวคเกลส์ (Berndt Wackels) เป็นกัปตันเรือ ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทเดินเรือขนาดใหญ่ในกรุงแฮมเบอร์ก แม่ของฮอร์ไนชื่อ คลอทิลเด วอง รอนเซ็ลเล็น (Clotilde van Ronzenlen) กัปตันแวคเกลส์มีอายุมากกว่าภรรยา 18 ปี เคยมีลูกติด 4 คน เขามีลูก 2 คนกับแม่ของคาเร็น เขามีลูกชายเป็นคนแรกและ 4 ปีให้หลังก็กำเนิดคาเร็น
เมื่อยังเป็นเด็ก คาเร็นมีความรู้สึกสองจิตสองใจต่อพ่อ พ่อของเธอได้พาเธอออกทะเลและไปหลายแห่งของโลก เป็นเวลาหลายครั้งที่ทำให้คาเร็นมีความผูกพันกับทะเลและการท่องเที่ยว ทำให้เธอมีมุมมองแบบสากลนิยม คาเร็นรักพ่อมาก แต่ก็รู้สึกไม่ค่อยกล้าเพราะพ่อแม่ของเธอมีท่าทางเมินเฉย และมั่นใจในตนเอง พ่อของเธอเป็นคนเคร่งศาสนาและเป็นคนที่เชื่อว่า ผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชาย เขาเข้มงวดกับคาเร็นในกิจกรรมต่างๆ แต่ให้เสรีภาพแก่พี่ชายเธอ พ่อเธอคัดค้านแม้การศึกษาของเธอ ห้ามเธอไม่ให้ทะเยอทะยานมากไป แม้แม่ของคาเร็นจะสนับสนุนลูกมากกว่า แต่ทั้งพ่อทั้งแม่องเธอก็ไม่แสดงความรักต่อเธอ ดังนั้นคาเร็นจึงรู้สึกทรมานใจไม่แน่ใจในคุณค่าของตัวเธอ เธอจึงยอมรับการปกป้องของแม่และกลายเป็นลูกสาวที่เกาะแม่ ยอมตามแม่คงเป็นเพราะเธออยากรู้สึกมีคนปกป้องและมีความปลอดภัย ความรู้สึกไร้ค่าของเธอยังถูกเสริมด้วยความคิดว่าตัวเธอไม่สวย แม้คนอื่นจะไม่คิดเช่นนั้น คาเร็นแสดงปฏิกิริยาโดยการมุ่งการศึกษาดังที่เธอได้กล่าวในปลายปีต่อมาว่า "แม้ฉันจะไม่สวย แต่ฉันจะเก่ง"
คาเร็นเป็นนักศึกษาที่ดีเยี่ยม เธอได้เข้าเรียนวิชาแพทยศาสตร์ที่กรุงไฟรเบอร์ก (Freiburg) ในปี1906 เธอเป็นนักศึกษาหญิงคนเดียวในชั้น ในสภาพที่มีแต่ผู้ชาย ทำให้คาเร็นรู้สึกว่า เธอต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเก่งเท่าคนอื่น แม้ไม่เก่งกว่าพวกเขาก็ตาม แต่ทว่าชีวิตทางสังคมในช่วงนี้ของเธอมีความสมบูรณ์น่าตื่นเต้นและได้ผลดี เธอได้รับการแนะนำให้รู้จักกับออสก้าร์ ฮอร์ไน (Oskar Horney) ซึ่งเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์และคาเร็นแต่งงานกับเขาทั้งๆ ที่ยังเรียนแพทย์อยู่ หลังจากที่ออสก้าร์เรียนจบเขาก็ไปทำงานที่บริษัทลงทุนและได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นผู้จัดการของบริษัทในระหว่างนั้นคาเร็นก็พยายามเรียนแพทย์ให้จบพร้อมกับเลี้ยงลูกสาวคนแรก (มีลูกสาว 3 คน)
สิ่งที่ขัดแย้งกันเหล่านี้ รวมทั้งการตายของแม่เธอ มีผลต่อปัญหาชีวิตคู่ ทำให้เธอเป็นโรคซึมเศร้า เธอไปหาจิตแพทย์ชื่อ ดร.คาร์ล อับราฮัม (Dr.Karl Abraham) เธอผิดหวังในผลการวิเคราะห์ของแพทย์ และเริ่มไม่ไว้ใจข้อคิดขั้นพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ การไม่เห็นด้วยของเธอ ทำให้เธอเข้าร่วมการสัมมนาประจำสัปดาห์กับนักวิเคราะห์จิตคนอื่นๆ ในบ้านของดร.อับราฮัม เพื่อถกกันในเรื่องของข้อคิดของจิตวิเคราะห์ หลักการและวิธีการบำบัดตามแนวนี้ การประชุมที่ไม่เป็นทางการนี้ ทำให้เกิดการก่อตั้งสถาบันวิเคราะห์จิตแห่งเบอร์ลิน (Berlin Psychoanalytic Institute) ซึ่งฮอร์ไนก็ได้เป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 1918 ถึง 1932
ในช่วงดังกล่าวเธอได้กล่าวตรงๆเกี่ยวกับข้อจำกัดของทฤษฎีดั้งเดิมของจิตวิเคราะห์ เธอเชื่ออย่างมากว่า ฟรอยด์เน้นบทบาทของสัญชาตญาณทางเซ็กส์มากไปในการอธิบายเกี่ยวกับพัฒนาการของโรคประสาท ฟรอยด์ให้ความสำคัญต่อบทบาทของวัฒนธรรมและสังคมที่ทำให้เกิดจิตอปกติน้อยไป สำหรับฟรอยด์โรคประสาทนั้นเกิดจากความไม่สามารถจัดการกับสัญชาตญาณทางเซ็กส์ของผู้ป่วยและการดิ้นรนของสัญชาตญาณนี้ แต่สำหรับฮอร์ไนโรคประสาทเกิดจากมนุษยสัมพันธ์ที่ถูกกระทบ ตามความคิดเห็นของเธอ โรคประสาทและปัญหาทางเซ็กส์มักจะเชื่อมโยงกันบ่อยครั้ง แต่ไม่เสมอไปและเมื่อมันเกี่ยวโยงกันมันหมายความว่าโรคประสาทเกิดจากคุณลักษณะที่ผิดๆ ของโครงสร้างทางบุคลิกภาพทำให้เกิดปัญหาทางเซ็กส์ แต่สำหรับฟรอยด์ สิ่งที่ทำให้เป็นโรคประสาทคือปัญหาทางเซ็กส์นอกจากนี้ฮอร์ไนยังเชื่อว่าในแต่ละวัฒนธรรมจะมีการสร้างความกลัวให้ประชาชนของมันเอง สำหรับวัฒนธรรมหนึ่งความกลัวอาจอยู่ที่ธรรมชาติ เช่น กลัวภูเขาไฟเพราะอยู่ใกล้ๆ มัน หรือกลัวทะเลทราย ส่วนวัฒนธรรมอื่นที่มีประเทศเพื่อนบ้านที่ชอบทำสงคราม ก็อาจกลัวสงคราม ในสังคมตะวันตกซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างมากและเน้นการใฝ่สัมฤทธิ์ของบุคคล ทำให้คนกลัวความล้มเหลวหรือกลัวมีปมด้อย ฮอร์ไนคิดว่าสำหรับคนปกติจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งข่มขู่เขาได้ และสามารถนำส่วนที่ดีขอวัฒนธรรมมาใช้ได้ ในทางตรงกันข้ามคนที่เป็นโรคประสาทจะปรับตัวไม่ได้ และใช้กลไกป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด และใช้ไม่เลือกประเภทเพื่อลดความกลัวและเพื่อรู้สึกปลอดภัย
สิ่งที่เกี่ยวพันกับความกลัวที่สังคมสร้างให้ คือ ปัญหาที่เกิดจากสภาพชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ไม่รักหรือลำเอียง ถูกบุคคลสำคัญปฏิบัติต่ออย่างไม่ใยดี เช่นครูรังแกลูกศิษย์ บ้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้เกิดการผิดปกติของการปรับตัว การเน้นเรื่องกระบวนการสังคมที่ทำให้เป็นโรคประสาทและลดการเน้น(แต่ไม่ตัดทิ้ง) ตัวแปรทางชีวภาพทำให้ฮอร์ไนต้องตีความข้อคิดของ ฟรอยด์ใหม่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งทฤษฎี libido ในทฤษฎีพัฒนาการ Psychosexual และทฤษฎีการบำบัดจิตของฟรอยด์ ทฤษฎีใหม่ของฮอร์ไนเกิดจากการได้ถกกับเพื่อนร่วมงานและนักศึกษาที่สถาบันวิเคราะห์จิตแห่งกรุงเบอร์ลิน ผลงานของเธอมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ศึกษาได้จากหนังสือของเธอตามลำดับปีที่เขียน เช่น The Neurotic Personality of Our Tine (1937), New Way in Psychoanalysis (1939), Self-Analysis (1942), Our Inner Conflicts (1945), Neurosis and Human Growth (1950) และเล่มที่พิมพ์หลังเสียชีวิต Feminine Psychology (1967)
ในปี 1932 ฮอร์ไนทิ้งสถาบันวิเคราะห์จิตแห่งเบอร์ลิน เพื่อไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่นั่นเธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการของสถาบันวิเคราะห์จิตแห่งเมืองชิคาโก สองปีต่อมาเธอย้ายไปอยู่กรุงนิวยอร์ก เพื่อไปเปิดการบำบัดจิตส่วนตัวและไปสอนหนังสือที่สถาบันวิเคราะห์จิตแห่งกรุงนิวยอร์ก ในขณะที่อยู่กรุงนิวยอร์ก เธอมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ซึ่งมี อีริค ฟรอม์ (Eric Fromm) คลาร่า ทอมป์สัน (Clara Thompson) มาร์กาเร็ต มีท (Margaret Mead) เอช เอส ซัลลิวาน (H.S.Sullivan) รูธ เบเนดิค (Ruth Benedict) และจอห์น ดอลลาร์ด (John Dollard) เธอหย่ากับสามีเธอในกรุงนิวยอร์กในปี 1937 จากนั้นเธอก็ตั้งหน้าขัดเกลาทฤษฎีของเธอ เขียนหนังสือและบทความ และไปปาฐกตามสถานที่ต่างๆ เธอเจอปัญหาเพราะความคิดของเธอไปขัดกับจุดยืนของนักวิชาการที่เป็นพวกฟรอยด์ ซึ่งอยู่ที่สถาบันวิเคราะห์จิตแห่งกรุงนิวยอร์ก จนสุดท้ายเธอต้องลาออกจากสถาบัน มีคนหลายคนที่เห็นใจเธอและลาออกด้วย จากนั้นไม่นานเธอก็ได้ก่อตั้งสถาบันเพื่อวิเคราะห์จิตแห่งสหรัฐอเมริกา และใช้สถาบันนี้ส่งเสริมทฤษฎีของเธอ เธอป่วยเป็นโรคมะเร็งอยู่เป็นเวลานานและเสียชีวิตในปี 1952
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น