วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

Sullivan: ทฤษฎีการพัฒนาบุคลิกภาำพ

ทฤษฎีขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพตามแนวคิดของ Sullivan ไม่ได้โด่งดังเหมือนทฤษฎีขั้นตอนในการพัฒนา "Psychosexual Stage" ของ Freud, "Psychosocial Stage ของ Erik Erikson หรือ "Cognitive Development" ของ Jean Piaget

ทฤษฎีขั้นตอนในการพัฒนาบุคลิกภาพของ Sullivan เน้นสัมพันธภาพระหว่างบุคคลเป็นแกนนำ คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ Sullivan บอกว่า ศึกษามาจากบุคคลในวัฒนธรรมคอเคเชี่ยน(คือชาวยุโรปและอเมริกัน) ดังนั้นขั้นตอนการพัฒนาเหล่านี้อาจไม่ตรงหรือสอดคล้องเป็นจริงในวัฒนธรรมอื่น ขั้นตอนการพัฒนาการประกอบด้วย 7 ขั้นตอนคือ 




ขั้นตอนที่ 1 ระยะวัยทารก (แรกคลอดจนถึงเข้าใจภาษา)
เป็นระยะวัยทารกแรกเกิดถึงระยะที่ทารกสามารถฟังและพูดภาษาได้รู้เรื่อง พฤติกรรมที่ต้องใช้ปากเป็นพฤติกรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมากกว่าพฤติกรรมด้านอื่นๆ เช่นการใช้ปากเพื่อดูดนม, การเล่นเสียง, การร้องไห้, การส่งเสียงเพื่อการสื่อสาร, การหัดพูดภาษา ในขณะที่อวัยวะอื่นๆ ยังไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีการพัฒนาพฤติกรรมอวัยวะอื่นๆ พร้อมๆ กับพฤติกรรมทางปาก คือเด็กกำลังหัดใช้มือ, แขน, ขา และอวัยวะอื่นๆ ที่เป็นไปในทางพัฒนากล้ามเนื้อและประสาทสัมผัส เพื่อให้สามารถใช้ได้ดีและช่วยเหลือตัวเองได้ เช่น การหัดคลาน, หยิบฉวยสิ่งของ หัดคว่ำ, หัดยืนและหัดเดิน

ด้วยความด้อยของศักยภาพในการดำรงชีวิต ทำให้เด็กวัยนี้ต้องพึ่งพาและมีความ สัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดู การแสดงออกของพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้ต่อเด็ก เช่นการสัมผัสกับเด็กด้วยน้ำเสียงรักใคร่เอ็นดูหรือชิงชัง, การแสดงท่าทาง หรือด้วยสัมผัสด้วยมือที่อ่อนโยนหรือหยาบกระด้าง ส่งผลต่อความรู้สึกความสุขกายสบายใจของเด็ก หรือทำให้เด็กมีความทุกข์, ความเครียดวิตกกังวล, พฤติกรรมที่ทำให้เด็กมีเจตคติทั้งทางบวกหรือทางลบ มีผลต่อบุคลิกภาพที่ดีและไม่ดีของเด็กด้วย

ในระยะนี้ เด็กเรียนรู้ที่จะรู้จักสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และเริ่มที่จะแยกแยะตัวเองออกจากสิ่งแวดล้อม เป็นการค่อยๆ พัฒนาจากขั้น Prototaxic ไปสู่ขั้น Parataxic

ขั้นตอนที่ 2 ระยะวัยเด็ก (พูดภาษาได้เข้าใจจนถึงเข้าโรงเรียน)
เป็นช่วงเวลาที่เด็กเริ่มที่จะรู้จักการรู้สึกนึกคิด และเริ่มการสื่อสารด้วยระบบสัญลักษณ์ (Symbolic Period) ซึ่งมักเป็นภาษาเป็นถ้อยคำ ความสามารถทางภาษาขยายวงความคิดและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอย่างไพศาล กลุ่มสังคมของเด็กจะขยายวงจากพ่อแม่ผู้เลี้ยงดู ไปยังเพื่อนร่วมวัย บุคคลอื่นนอกครัวเรือน เด็กรู้จักแยกแยะตนเองกับสภาพแวดล้อมมากยิ่งขึ้น รู้จักตนเองว่าเป็นคนคนหนึ่ง, เป็นเพศหญิงหรือชาย, ชอบอะไรไม่ชอบอะไร, มีใครรักตนเองหรือไม่รัก เด็กบางคนสามารถเรียนรู้ถึงสังคมนอกครอบครัว ว่าแตกต่างหรือเหมือนกับครอบครัวของตนอย่างไร เป็นช่วงระยะเวลาที่เด็กเข้าใจถึง "ความเกลียดชัง", "ความรัก", "ความใจดี", "ความใจร้าย" ตามความหมายที่แท้จริง ถ้าเด็กพบความไม่ดีของสังคมรอบตัว เด็กก็เกิดความตระหนกและจะถดถอยไปสู่โลกของความเป็นทารก เช่น พูดไม่ชัด, ชอบเล่นคนเดียว, เก็บตัว, ขี้อาย, ติดพ่อติดแม่อย่างเหลือเกิน แม้ที่สุดกลัวคนนอกบ้าน(เหตุการณ์เช่นนี้วิธีแก้ไขคือ นิทาน, การ์ตูน, การเล่น เพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอกได้) เด็กในวัยนี้รู้จักแยกแยะและรู้จักลักษณะประจำเพศของตนเอง จึงเป็นระยะที่เด็กเริ่มการเล่นที่คล้อยตามลักษณะทางเพศของตนเอง เช่น เด็กหญิงเล่นเป็นแม่ เด็กชายเล่นเป็นพ่อ

ขั้นตอนที่ 3 ระยะก่อนวัยรุ่น (ระยะเข้าเรียนชั้นประถม)
เป็นระยะที่เด็กเริ่มเข้าเรียนชั้นประถม ชีวิตทางสังคมกว้างขวางขึ้น เด็กเรียนรู้บทบาทของตนเองและคนอื่นในสังคมเป็นวงกว้าง ต้องรู้จักหัดเคารพกฎเกณฑ์ของสังคม, ระเบียบวินัยของโรงเรียน ประพฤติปฏิบัติตนตามกรอบวัฒนธรรมทางสังคมที่ตนร่วมอยู่อาศัย หัดเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนนอกครอบครัวคนอื่นๆ เรียนรู้การอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นพวก เริ่มมองเห็นโครงสร้างและวัฒนธรรมทางสังคม เด็กเริ่มคล้อยตามอิทธิพลของกลุ่มเพื่อนๆ คำวิจารณ์จากเพื่อนและผู้ใหญ่ เริ่มรู้จักการการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองและบุคคลอื่น มีผู้ใหญ่จำนวนมากที่ขั้นตอนการพัฒนาบุคลิกภาพหยุดชะงักอยู่แค่ในขั้นตอนที่สองหรือที่สามนี้เท่านั้น

ขั้นตอนที่ 4 ระยะวัยแรกรุ่น (ชั้นประถมต่อเนื่องมัธยมต้น)
เป็นระยะที่บุคคลรู้จักละความเห็นตนเป็นศูนย์กลาง(Ego Centric) เพื่อสร้างไมตรีจิตอันสนิทสนมกับเพื่อน (Intimate Friendship) โดยเฉพาะกับเพื่อนเพศเดียวกัน ตามความคิดของ Sullivan การพัฒนาการความสนิทสนมกับเพื่อนๆ ในเพศเดียวกันนี้เป็นการพัฒนาการที่สำคัญมากต่อการเป็นผู้มีความสุขและสุขภาพจิตดี การแสดงไมตรีจิตต่อเพื่อนๆ ในเพศเดียวกัน จะพัฒนาไปสู่การสังคมกับเพื่อนต่างเพศและบุคคลอื่นๆ จนถึงการสมาคมในวัยเป็นผู้ใหญ่

ถ้าบุคคลไม่สามารถพัฒนาคุณสมบัตินี้ เขาจะกลายเป็นคนที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวหงอยเหงา ไร้ความสุข ไม่สามารถคบหรือผูกพันกับใครๆ ได้อย่างสนิทสนมแท้จริง ทั้งกับคนในครัวเรือนและนอกครัวเรือน คุณสมบัติของความสนิทสนมได้แก่ ความรักใคร่ผูกพัน, ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน, การนิยมยกย่องให้เกียรติกันและกัน และการร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

ขั้นตอนที่ 5 ระยะวัยรุ่นตอนต้น (ปีท้ายๆ มัธยมต้น ต่อเนื่องมัธยมปลาย)
วัยระยะนี้ให้ความสำคัญและสนใจเรื่อง "เพศ" และ "ความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม" ทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและในจินตนาการ (Sexual Fantasy) การพัฒนาทุติยภูมิทางเพศ (เป็นลักษณะของร่างกายที่มีความสัมพันธ์อยู่กับอวัยวะเพศ เป็นลักษณะที่ช่วยให้สามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิงออกจากกันได้ ตัวอย่างของลักษณะทุติยภูมิทางเพศในผู้ชายได้แก่ หนวดเครา ส่วนในเพศหญิง ได้แก่ การขยายของทรวงอกและสะโพกซึ่งเป็นสัญญาณว่าเป็นการสิ้นสุดของวัยเด็ก) เป็นปัจจัยสำคัญให้วัยรุ่นเน้นความสนใจเรื่องราวทางเพศ

แม้เรื่องทางเพศ เป็นเรื่องที่เด็กวัยรุ่นมีความกระหายใคร่รู้และปรารถนามีกิจกรรมทางเพศในแง่มุมต่างๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เด็กวัยรุ่นกังวลและสับสน เพราะความต้องการรู้หรือเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ มักจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับพ่อแม่ผู้ปกครอง, กฎเกณฑ์ทางสังคม, วัฒนธรรม รวมทั้งเพื่อนร่วมวัย เพศเดียวกันและต่างเพศในบางครั้งบางคราว เมื่อสิ้นสุดของระยะวัยรุ่นตอนต้นนี้ เด็กควรมีวุฒิภาวะเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงสังคมกับเพศตรงข้าม ได้แก่ ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์สนิทสนมกับเพศตรงข้าม(ชีวิตส่วนตัวของ Sullivan ไม่บรรลุวุฒิภาวะในแง่นี้)

Sullivan อธิบายว่า ข้อขัดแย้งทางจิตใจเรื่องเพศของเด็กวัยรุ่นตอนต้นนี้ เกิดจากความกดดันทางสังคมมากกว่าเกิดจากอารมณ์และจิตใจของเด็กวัยรุ่นเอง Sullivan เชื่อว่ามีผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงวุฒิภาวะทางสังคมในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศและในการมีความสุขทางใจในการมีเพศสัมพันธ์ เพราะความต้องการทางเพศหยุดชะงักเฉพาะความพึงพอใจ หรือได้รับการตอบสนองความต้องการทางเพศ เพียงความสุขสมทางร่างกายเท่านั้น หรือกล่าวได้ว่า การตอบสนองความต้องการทางเพศบรรลุเพียงการสุขสมทางกาย(Pleasure) ไม่ก้าวไปถึงขึ้นสนิทสนม(Intimacy) ซึ่งเป็นความพอใจเหนือกายสัมผัส

ขั้นตอนที่ 6 ระยะวัยรุ่นตอนปลาย (ปีท้ายมัธยมปลาย ต่อเนื่องอุดมศึกษา)
เป็นช่วงระยะที่บุคคลสามารถมีอิสระเลือกทำกิจกรรมทางเพศได้ตามที่ตนพอใจมากกว่าในวัยที่ผ่านมารู้จักคบหากับบุคคลอื่นอย่างผูกพันแน่นแฟ้นมั่นคงยิ่งขึ้น ความสามารถทางสติปัญญาถึงขีดสูงสุด สามารถเรียนรู้วิชาการต่างๆ ได้ด้วยดี รู้จักรับผิดชอบต่อชีวิตตนเองและต่อความเป็นไปของสังคม รู้จักการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ขั้นตอนที่ 7 ระยะวัยผู้ใหญ่ (พ้นช่วงวัยรุ่นจนตลอดชีวิต)
ถ้าการพัฒนาการของบุคคลดำเนินมาอย่างราบรื่นโดยตลอดใน 6 ขั้นตอนแรก บุคคลผู้นั้นก็จะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่อย่างมี "วุฒิภาวะ" มีความสามารถในการอยู่ในโลกของความเป็นจริงสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี

Sullivan เชื่อว่าการมี "วุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่" จะทำให้มีความเจริญงอกงามของบุคลิกภาพไม่มีวันจบสิ้น แต่ความเจริญงอกงามของบุคลิกภาพนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลสามารถสร้างเยื่อใยไมตรีกับผู้อื่นได้อย่างสนิทสนม ความสามารถดังกล่าวนี้ นอกจากจะพัฒนาบุคลิกภาพให้มีความมั่นคงแล้ว ยังสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของบุคลิกภาพซึ่งเกิดขึ้นในวัยเด็กได้ด้วย

ถึงแม้ Sullivan จะเน้นให้ความสำคัญว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล" เป็นตัวนำในการพัฒนาการบุคลิกภาพของบุคคลแล้วก็ตาม แต่เขาก็ยอมรับว่ากรรมพันธุ์และวุฒิภาวะทางร่างกายก็มีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างและทำให้เกิดความแตกต่างของบุคลิกภาพของคนเราให้เข้มแข็งหรืออ่อนแอได้เช่นกัน แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง กรรมพันธุ์ วุฒิภาวะทางกาย และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการของบุคลิกภาพมากที่สุด เขาเชื่อว่าความเป็นไปทางร่างกาย, ทางอารมณ์และจิตใจ เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น โกรธเพื่อน ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หงุดหงิดใจ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น