วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

Karen Horney: Neurotic Needs

นการแก้ปัญหาความไม่มั่นใจ การถูกโดดเดี่ยวและความรู้สึกเป็นศัตรูซึ่งมีอยู่ในความร้อนรนใจขั้นพื้นฐาน เด็กมักจะใช้เจตคติป้องกันตัวเอง วิธีการปกป้องตัวเองชั่วคราวเหล่านี้จะทำให้ปวดร้าวน้อยลงและทำให้รู้สึกปลอดภัย ฮอร์ไนได้เรียกการปกป้องตัวเองเหล่านี้ว่า neurotic needs หรือ การต่อสู้เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย ความต้องการเหล่านี้ต่างกับความต้องการธรรมดา เพราะมีแรงขับ ไม่ยืดหยุ่น และใช้ไม่เลือกเพราะมันไร้สำนึก(ไม่รู้ตัว) ฮอร์ไนได้กล่าวถึง neurotic needs 10 ประการ ดังนี้




1. The neurotic need for affection and approval
แม้เราทุกคนอยากให้คนอื่นที่เราชอบ ชอบเรา แต่คนเป็นโรคประสาทต้องการความรักอย่างไม่แยกแยะ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเขาแคร์คนนั้น หรือเป็นเพราะคนนั้นรู้สึกดีต่อเขา บุคคลที่เป็นประสาทจะมีความรู้สึกไวผิดปกติต่อการชี้บ่งว่าเขาจะไม่ได้รับการรักตอบ พวกเขาจะตัดความสัมพันธ์กับคนที่ทำให้ผิดหวัง แม้ในเรื่องเล็กๆ เช่น มาตามคำเชิญให้ทานข้าวด้วยไม่ได้ แม้คนนั้นจะช่วยไม่ได้จริงๆ เนื่องจากมีเหตุจำเป็นและเขาก็อาจสิ้นสุดความสัมพันธ์กับคนที่เพียงไม่เห็นด้วยกับเขาในเรื่องเล็กๆ นอกจากนี้บุคคลดังกล่าว ยังมีปัญหาในการบอกความต้องการและขอให้คนอื่นทำอะไรให้และในขณะเดียวกันก็ตอบปฏิเสธการถูกขอร้องเช่นกัน คนขายของสามารถชักจูงให้เขาหรือเธอซื้อของง่ายๆ ไม่ว่าของเหล่านั้นเขาต้องใช้หรือไม่ ขณะเดียวกันคู่เดทก็สามารถจูงใจให้ร่วมเพศก่อนแต่งงานได้ แม้มันจะขัดกับหลักศีลธรรมของเขาหรือเธอ จนทำให้เธอเป็นทุกข์มากหลังจากนั้น

2. The neurotic need for a "partner" who will take over one's life
เป็นความต้องการที่จะมีคู่ที่จะมาดูแลชีวิต โดยการยึดชีวิต มีคนเป็นโรคประสาทเป็นจำนวนมากที่พึ่งคนอื่นอย่างมาก พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและไร้ความสามารถถ้าไม่มีคนรักดูแลและให้ความเป็นเพื่อนในฐานะเป็นคู่หรือหุ้นส่วนชีวิต พวกเขาจะถูกขับให้อยากมีหุ้นส่วนชีวิต จนเที่ยวเลือกคนเป็นคู่ง่ายๆ จนบางทีมาค้นพบทีหลังว่าคนที่เขาเลือกไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวังไว้ ความสัมพันธ์ที่มีวุฒิภาวะนั้นหมายถึงว่าจะต้องมีการดูแลซึ่งกันและกัน มีการแบ่งปันและมีความรัก คนเป็นโรคประสาทจะทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ และมักจะลงเอยโดยมีคู่ที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้มีความสัมพันธ์ที่มีปัญหาและไม่เป็นที่พอใจ

3. The neurotic need to restrict one's life within narrow borders
ความต้องการแบบประสาทเพื่อควบคุมชีวิตของตัวเองอยู่ในวงแคบๆ หมายถึง ว่าบุคคลที่มีปัญหาดังกล่าวจะเป็นพวกไม่กล้าเสี่ยง พวกเขากลัวที่จะแสดงความต้องการเพราะกลัวถูกห้ามหรือถูกล้อเลียน แม้ในสถานการณ์ที่ต้องการความพร้อมและการแสดงออก เช่นการแข่งขันกีฬา พวกเป็นโรคประสาทก็ไม่สามารถแสดงตัวเอง ดังนั้น พวกเขาอาจหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวโดยอ้างว่าน่าเบื่อหรือไม่น่าสนใจ พวกเขาอาจหลีกเลี่ยงงาน เช่น การเป็นครูหรือเป็นผู้บริหารทางธุรกิจ เพราะกลัวความล้มเหลวและถูกเยาะเย้ย ผลก็คือว่าคนเป็นโรคประสาทหลายคนจะมีชีวิตอยู่ในวงแคบๆ มีแต่เรื่องจำเจและมีระเบียบเรียบง่าย บุคคลเหล่านี้ยังหาความปลอดภัยโดยการถ่อมตัวเป็นพิเศษและยอมทำตามผู้อื่น

4. The neurotic need for power
ความบ้าอำนาจแบบประสาท สำหรับคนปกติ ความต้องการที่จะแสดงอำนาจจะออกไปในทางแสดงกำลังทางกาย แสดงความสามารถทางความคิด แสดงวุฒิภาวะและความฉลาดสุขุมโดยวิธีการที่สมกับความเป็นจริง การต่อสู้เพื่ออำนาจของคนปกติจะมีความเหมาะสม เช่น ต่อสู้เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของครอบครัว ของกลุ่มอาชีพและของประเทศชาติ แต่สำหรับคนบ้าอำนาจแบบประสาท การต่อสู้มิได้เกิดจากพลังแต่เกิดจากความร้อนรน ความอ่อนแอและความรู้สึกเป็นปมด้อย การต่อสู้ของบุคคลดังกล่าวก็เพื่อแก้ความรู้สึกไร้ความสามารถ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของความร้อนรนใจ บุคคลที่เป็นโรคประสาทจะเกลียดการแสดงความอ่อนแอ พวกเขาจะเลี่ยงสถานการณ์ที่แสดงความอ่อนแอและเลี่ยงการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ความรู้สึกที่ตัวเองไม่เอาไหนของพวกเขา จะทำให้พวกเขาสร้างภาพตัวเองที่เลอเลิศจนทำให้พวกเขาคิดว่า พวกเขาทำได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะยากเย็นอย่างไร และทำได้ง่ายดายทันที ความเชื่อในความเหนือกว่าคนอื่นของพวกเขาหมายถึงว่าพวกเขาคิดว่า พวกเขาจะบังคับคนอื่นได้ แนวโน้มที่ชอบบังคับคนอื่นนั้นอาจถูกเก็บกดไว้จนไม่มีใครรวมทั้งตัวเองรู้ตัว บุคคลที่เป็นโรคประสาทอาจมีอาการเป็นคนใจกว้างผิดปกติ และสนับสนุนเสรีภาพของผู้อื่นอย่างแยบยล ถ้าบังคับหรือควบคุมคนอื่นไม่ได้ พวกเขาก็อาจรู้สึกซึมเศร้า ปวดศีรษะอย่างแรงหรือท้องไส้มีปัญหาบุคคลบ้าอำนาจแบบประสาทจะต้องการเป็นฝ่ายถูกอยู่ตลอดเวลา และจะรู้สึกหงุดหงิดถ้ามีการพิสูจน์ว่าเขาผิด ไม่ว่าเรื่องจะเป็นเรื่องเล็กแค่ไหน นอกจากนี้บุคคลดังกล่าวยังอยากหยั่งรู้อนาคต ถ้าเจอสถานการณ์ที่คลุมเครือเมื่อใด พวกเขาจะไม่ชอบและหลีกเลี่ยง บุคคลที่บ้าอำนาจจะยกย่องการควบคุมตัวเองและจะดูถูกคนที่ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ดังนั้นความสัมพันธ์ของพวกเขาก็จะมีปัญหาเพราะมัวแต่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกของตนเองอยู่ อีกทั้งเห็นการแสดงความรักของคู่สัมพันธ์เป็นเรื่องอ่อนแอ บุคคลอย่างนี้จึงมีปัญหามนุษยสัมพันธ์อย่างมาก บุคคลเหล่านี้จะมีแต่ความขัดแย้งกับคู่สัมพันธ์และคิดว่าตัวเองจะต้องถูกเสมอและตัวเองจะไม่มีวันยอมแพ้

5. The neurotic need to exploit others
ความต้องการอย่างประสาทในการเอาเปรียบผู้อื่น นักเอาเปรียบแบบประสาทเป็นพวกมองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้ใจใคร ต้องการเอาเปรียบคนอื่นเพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองปลอดภัย พวกเขาอาจขโมยความคิด ขโมยงานหรือขโมยแฟนของคนอื่น เพื่อปลอบใจตัวเองเพราะพวกเขารู้สึกมั่นคง พวกเขาอยู่อย่างกาฝาก คาดหวังว่าคนอื่นจะต้องช่วยพวกเขา ให้เงินพวกเขาใช้ พวกเขามีชีวิตอยู่โดยการคาดว่าสิ่งดีๆ จะต้องเกิดกับพวกเขา และถ้ามีสิ่งร้ายๆ จะต้องเป็นคนอื่นทำความที่ชอบเอาเปรียบคนอื่น ทำให้บุคคลดังกล่าวเกิดความกลัวที่จะถูกโกงหรือถูกเอาเปรียบ ดังนั้นพวกเขาจะอยู่กับความกลัวตลอดเวลา พวกเขาจะโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ถ้าเพื่อนบ้านยืมของแล้วคืนช้าเพียงนิดเดียว หรือเมื่อพนักงานเก็บเงินคิดเกินเพียงนิดเดียว

6. The neurotic need for social recognition and prestige
คนปกติจะภูมิใจถ้าเป็นที่ชื่นชอบและได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเมื่อมีผลงาน แต่ชีวิตของบุคคลดังกล่าวก็มิได้หมกมุ่นอยู่แต่กับของพวกนี้
พวกเขาไม่ทุ่มพลังชีวิตทั้งหมดเพื่อเพียงเกียรติยศชื่อเสี่ยง แต่บุคคลที่อปกติ มักจะถูกผลักโดยความอยากที่จะให้คนอื่นยอมรับและนับถืออย่างมาก พวกเขาจะตีความทุกอย่างเกี่ยวกับศักดิ์ศรีหมด ไม่ว่าจะเป็นความคิด บุคคล ข้าวของ กลุ่มคน ทุกอย่างมีคุณค่าทางเกียรติยศหมด พวกเขาจะนิยมมีเพื่อนเป็นคนมีชื่อเสียง เป็นสมาชิกกลุ่มมีเกียรติ ได้อ่านหนังสือเล่มล่าสุด ได้ดูละครเรื่องล่าสุด จะมีคู่เพื่อส่งเสริมเกียรติยศศักดิ์ศรีของเขา สิ่งที่เขากลัวที่สุด คือสถานะตกต่ำ

7. The neurotic need for personal admiration
ความต้องการให้คนชื่นชมแบบประสาท หมายความว่า บุคคลที่เป็นโรคประสาทจะมีแต่ความเหยียดหยามตัวเองและความขยะแขยงตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกที่น่าปวดร้าวเหล่านี้ พวกเขาจะสร้างภาพว่าตัวเองสมบูรณ์แบบ ความรู้สึกที่ไม่จริงดังกล่าวเกิดขึ้นแบบไร้สำนึก (ไม่รู้ตัว) และมีความแตกต่างไปตามประสบการณ์และคุณลักษณะของโครงสร้างบุคลิกภาพ คนเป็นโรคประสาทบางพวกพยายามทำตัวเป็นผู้วิเศษที่ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ ทั้งสิ้น พวกนี้จะทำตัวเสมอเหมือนตัวอย่างอันยอดเยี่ยมทางปัญญา และไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้ใจกว้างเสมอไป ไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนที่เปี่ยมรักหรือมิได้เป็นคนปราดเปรื่อง บุคคลประสาทดังกล่าวมิได้ต้องการให้คนยกย่องเขาเพราะสถานะหรือทรัพย์สมบัติแต่พวกเขาต้องการให้คนอื่นชื่นชมพวกเขา เพราะความเป็นบุคคลในอุดมคติของตนเอง ต้องการให้มองว่าเขาเป็นนักบุญหรือเป็นอัจฉริยะ

8. The neurotic ambition for personal achievement
ความอยากที่จะประสบความสำเร็จแบบประสาทเกี่ยวข้องกับความอยากมีเกียรติ อยากให้สังคมยอมรับและได้รับการชื่นชม แม้จะเป็นเหตุที่คนเราต้องการจะเป็นหนึ่งในหน้าที่การงาน แต่บุคคลที่เป็นโรคประสาทจะมีความทะเยอทะยานอย่างไม่เลือกและพยายามจะเป็นหนึ่งในทุกเรื่อง บุคคลดังกล่าวจะมีความต้องการเป็นนักวาดภาพที่ยอดเยี่ยม เป็นหมอที่เก่งกาจ เป็นนักดนตรีที่มีชื่อเสียง และเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเป็นพร้อมๆ กันในทุกเรื่อง เนื่องจากตั้งเป้าหมายไว้เยอะ ทำให้เสียพลังในการวิ่งหาความเป็นไม่ได้ พวกเขาจึงมักจะประสบความล้มเหลวและผิดหวัง นอกจากนี้การดิ้นรนทุกรูปแบบทำให้พวกเขามิเพียงแต่ต้องการให้ตัวเองชนะ แต่ต้องการให้คนอื่นแพ้ด้วยพวกเขามีอาการประสาทที่คิดว่าในโลกนี้จะไม่มีใครสวยกว่าฉัน เก่งกว่าฉันและประสบความสำเร็จมากเท่าฉัน บางครั้งการเอาชนะคนอื่นมีความสำคัญมากกว่าความ สำเร็จส่วนตนด้วยซ้ำ อันที่จริงแล้วคนเหล่านี้ก็ไม่เก่งเท่าไรนัก ดังนั้นเพื่อให้รู้สึกดี พวกเขาจะดึงคนอื่นให้ต่ำลง เพื่อไม่ให้มีใครเหนือกว่าพวกเขา อย่างน้อยพวกเขาก็อยากให้คู่แข่งเป็นแค่เสมอพวกเขา

9. The neurotic need for self-sufficiency and independence
บางครั้งคนเราก็ต้องการอยู่คนเดียวเงียบๆ และเป็นส่วนตัว เมื่อความกดดันทางสังคมมีมากจนเกินไป บางทีเราก็จะเก็บตัวอยู่ในห้องเงียบๆ หรือลาพักร้อน หรือไม่ก็หากิจกรรมที่สร้างสรรค์ต่างๆ มารหันเหความสนใจ เราอาจจะไปวิ่งออกกำลังกาย อ่านหนังสือหรือทำงานช่างไม้ เมื่อเราได้ผ่อนคลายและรู้สึกสดชื่นขึ้น เราก็พร้อมที่จะมีกิจกรรมตามปกติอีก ในทางตรงกันข้ามคนที่เป็นโรคประสาทจะรู้สึกแปลกแยกกับผู้อื่นแบบถาวร พวกเขากลัวที่จะแสดงความรู้สึกต่อผู้อื่น เพราะกลัวจะตกที่นั่งลำบากและต้องรับรู้เรื่องร้ายๆเกี่ยวกับตัวเองซึ่งจะทำให้ไม่สบายใจ ด้วยเหตุนี้คนประเภทนี้จึงไม่ยอมผูกมัดในระยะยาว เช่น ไม่ยอมแต่งงานการแสดงความเหินห่างทำให้คนประเภทนี้สามารถรักษาภาพลวงว่าตัวเองเลอเลิศในความคิดฝันของคนประเภทนี้จะเต็มไปด้วยภาพลวงตัวเองว่าดีเลิศจนพวกเขาไม่ยอมมีการปฏิสัมพันธ์และไม่ยอมมีการเปรียบเทียบกับผู้อื่น เพราะเกรงว่าภาพลวงที่มีต่อตัวเองจะแตก พวกเขายังมีความเชื่อว่าคนอื่นควรจะยอมรับ
ความยิ่งใหญ่ของพวกเขา โดยไม่ต้องมีข้อสงสัย ดังนั้นความจริงเกี่ยวกับพวกเขาจึงไม่ได้รับการพิสูจน์

10. The neurotic need for perfection and unavailability
ฮอร์ไนมีความเชื่อว่าความอยากมีความสมบูรณ์แบบเกิดในช่วงวัยเด็กต้นๆ ผู้ใฝ่ความสมบูรณ์แบบแบบประสาท มักจะมีพ่อแม่ที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอ มีความเผด็จการ ควบคุมลูกโดยไม่ให้เถียง บอกให้ลูกตั้งเป้าชีวิตสูงมากและตั้งมาตรฐานไว้สูง สำหรับการกระทำของลูก พ่อแม่ดังกล่าวจะเยาะเย้ยและวิจารณ์ลูกตัวเองเมื่อลูกประสบความล้มเหลว โดยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ที่น่าเศร้าคือ บุคคลที่เป็นประสาทเหล่านี้ รับค่านิยมของพ่อแม่ไว้ และใช้ชีวิตทั้งชีวิตที่หลีกเลี่ยงการถูกครหา แน่นอนจะไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถเป็นคนธรรมะธัมโมเต็มที่ในทุกเรื่อง ดังนั้นคนพวกนี้จึงสร้างภาพว่าเป็นคนอย่างนั้น โดยที่ในใจคิดว่าการรู้จักศีลธรรมก็เป็นคนดีแล้ว บุคคลดังกล่าวจะคิดว่าตัวเองมีความยุติธรรมและเป็นคนรับผิดชอบ (ซึ่งบ่อยครั้งอาจไม่เป็น) พวกเขาต้องการให้คนนับถือพวกเขา และไม่ค่อยจะยอมรับการวิจารณ์ว่าพวกเขามีข้อเสียและมีขีดจำกัด




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น