วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

Sigmund Freud: Defense Mechanism (ตอนที่ 1)

ฟรอยด์อธิบายว่ามนุษย์ไม่สามารถหลักหนีความกังวลและความเครียดได้ ภาวะบีบคั้นจิตใจเหล่านี้มนุษย์ไม่พึงปรารถนาจึงพยายามหาทางผ่อนคลาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของอีโก้ที่จะต้องเสาะแสวงหาวิธีลดภาวะตึงเครียดนั้น ๆ โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า กลไกการป้องกันตัวเอง
กลวิธีการป้องกันตัวเองนั้นเป็นกลยุทธ์ที่บุคคลนำมาใช้เพื่อลดสภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยการบิดเบือน ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ และ หลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้น ๆ การใช้กลวิธีการป้องกันตัวเองยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะยกย่องตัวเอง ทำให้ตนรู้สึกว่ามีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และขจัดความกลัวต่าง ๆ ที่มารบกวนจิตใจให้หมดไป แต่ถ้านำไปใช้กับทุกเรื่องจนเคยชินเป็นนิสัยแล้วจะเป็นผลเสียต่อบุคลิกภาพของตนได้

ฟรอยด์เชื่อว่ากลวิธีการป้องกันตัวเองนี้จะเกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ

I. แบบสู้สถานการณ์ (Aggressive Reaction)
แบบสู้สถานการณ์หมายถึงวิธีการปรับตัวด้วยการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคนั้น ๆ ที่มาขัดขวางความต้องการการตน การปรับตัวแบบนี้เป็นได้ทั้งทางสร้างสรรค์และทำลาย กลไกการปรับตัวแบบสู้สถานการณ์นี้ได้แก่ การแสดงความก้าวร้าว (aggressive) ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทางวาจาและการใช้กำลัง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

1. ก้าวร้าวทางตรง (Direct Aggressive) เป็นการเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบตรงไปตรงมา คือ เมื่อพบว่าปัญหาคืออะไรก็ระบายอารมณ์กับสิ่งนั้นโดยตรง เช่น ลูกซนมาก ก็ตีลูกอย่างรุนแรง

2. ก้าวร้าวทางอ้อม (Indirect Aggressive) เรียกได้อีกชื่อว่า การย้ายที่แสดงความก้าวร้าว กล่าวคือ เป็นวิธีการที่ใช้ในกรณีที่บุคคลไม่สามารถแสดงออกซึ่งความก้าวร้าวและความไม่พอใจกับตัวต้นเหตุได้โดยตรง จึงก่อให้เกิดความทุกข์ ความคับข้องใจขึ้น จึงระบายออกด้วยการแสดงความก้าวร้าวกับสิ่งอื่น หรือบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เช่น ถูกเจ้านายตำหนิอย่างรุนแรงก็หันไปเตะสุนัขข้างถนนแทน หรือ ความเห็นไม่ลงรอยกันในที่ประชุมก็ระบายออกด้วยการทุบโต๊ะเสียงดัง




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น