Sullivan อธิบายว่าบุคลิกภาพของบุคคลที่มีหลากหลายลักษณะนั้น เป็นผลมาจาก "ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล" ซึ่งบุคคลที่ว่านี้อาจเป็นบุคคลที่เป็นผู้มีตัวตนเลือดเนื้อจริงๆหรืออาจเป็นบุคคลที่ไม่มีตัวตนจริงแต่มีอยู่ในจินตนาการ เช่น บุคคลในประวัติศาสตร์, ดารา นักแสดงที่ชื่นชอบ, นวนิยาย
Sullivan ได้อธิบายว่า เป็นการยากที่จะกำหนดลงไปว่า โครงสร้างของบุคลิกภาพมีส่วน ประกอบอะไรบ้าง เพราะส่วนต่างๆ ของโครงสร้างบุคลิกภาพของบุคคลแต่ละคน เช่น ค่านิยม, ลักษณะอารมณ์, ความใฝ่ฝัน, เจตคติ, ความเชื่อ, ความปรารถนาในชีวิต ฯลฯ ล้วนก่อ กำเนิดมาจากความสัมพันธ์ที่บุคคลมีต่อคนอื่นทั้งสิ้น ซึ่งมีความซับซ้อนของมิติต่างๆ ในส่วนประกอบของบุคลิกภาพ แต่ Sullivan ก็ได้กำหนดโครงสร้างของบุคลิกภาพไว้อย่างกว้าง ๆ เป็น 3 ลักษณะคือ
1. Dynamisms :
คือพฤติกรรมที่เป็นความเคยชินในการปฏิบัติต่อผู้อื่น เช่น ชอบบ่นเพื่อให้ใครๆ เห็นใจ , ชอบเอาเปรียบ, ชอบให้ความช่วยเหลือคนอื่น, ชอบรับใช้ดูแลคนอื่น ฯลฯ ศูนย์กลางของ Dynamisms คือ SELF (เป็นกระบวนการที่มีการพัฒนามาจากการใช้กลไกป้องกันตนเองทางจิต (Defense Mechanism)) เพื่อให้การสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นเป็นไปโดยราบรื่น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ซึ่งมักจะหล่อหลอมเป็นบุคลิกภาพประจำตน เพราะในวัยเด็ก เด็กจำเป็นต้องพึ่งพิงพ่อแม่ผู้ปกครองในการดำเนินชีวิต จึงจำเป็นต้องเอาอกเอาใจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีความพึงพอใจในตนเอง เช่น เป็นเด็กเชื่อฟัง, ไม่ดื้อ ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ผู้ปกครองทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมอย่างไรจึงจะทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองพอใจ พฤติกรรมอย่างไรที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ชอบ ทำตามในสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองสอนและไม่ทำในสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองห้าม การเรียนรู้นี้ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้และตัดสินได้ว่าลักษณะใดที่เป็นคนดีเลว ตามคำบอกเล่าของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อจะประพฤติตามที่พ่อแม่สอนว่าดี และไม่ปฏิบัติในสิ่งที่พ่อแม่ห้าม ทำให้เด็กมีการพัฒนา SELF ของตนเอง เช่น การเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย, กินอาหารมูมมาม, ไม่แปรงฟัน, การช่วยเลี้ยงน้อง,รักษาความ สะอาด, เป็นคนมีระเบียบวินัย, ตรงต่อเวลา ฯลฯและลักษณะเหล่านี้อาจกลายเป็นนิสัยติดตัวและกลายเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ
แต่เด็กทุกคนก็ใช่จะยินยอมคล้อยตามเต็มใจทำตามคำสั่งสอนของพ่อแม่ไปเสียทั้งหมดทุกครั้งเสมอไป ดังนั้นเด็กทุกคนก็จะทำอะไรๆ ที่หลีกหนีความจริง เพื่อปลดปล่อยผ่อนคลายความกดดันต่างๆ ทางอารมณ์ของตนเอง เช่น เซ้าซี้, เสแสร้าง, นึกผัน, แกล้ง, ทำมารยา, ออดอ้อน ฯลฯ ลักษณะต่างๆ เหล่านี้อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของ SELF ส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพและเป็นนิสัยติดตัวได้เช่นกัน ส่วนจะเป็นอย่างไหนมากน้อยกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
2. Personifications :
คือมโนภาพที่บุคคลวาดเป็นภาพของตนเอง, เป็นภาพของคนอื่นที่มีสัมพันธ์กับตนภาวะนี้เป็นจุดรวมของความรู้สึก, เจตคติ, ความคิดรวบยอดที่งอกงามจากประสบการณ์, ความสมหวังและความหวาดวิตก, ความเครียดกังวล ตัวอย่างเช่น การดูแลเอาใจใส่ของแม่ที่มีต่อลูก ทำให้เด็กวาดมโนภาพของแม่ว่าเป็นแม่ที่ดี ในทางตรงข้าม หากวิธีการเลี้ยงดูของแม่ทำให้เด็กเกิดความหวาดกลัว กังวล เป็นประสบการณ์ทางลบ ก็จะทำให้เด็กวาดมโนภาพของแม่ว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี แม่ใจร้าย
มโนภาพที่บุคคลมีต่อผู้หนึ่งผู้ใดนั้น เมื่อติดเป็นมโนภาพในการรับรู้แล้วก็อาจติดอยู่อย่างถาวร และอาจขยายเป็นวงกว้างออกไปก็ได้ เช่น เด็กวาดมโนภาพว่าบิดาเป็นคนดุชอบใช้อำนาจเด็ดขาด หากเด็กพบใครที่มีลักษณะคล้ายบิดาก็จะขยาย Personifications นี้ไปสู่บุคคลนั้นๆ ที่มีลักษณะคล้ายบิดาด้วยก็ได้ และมโนภาพที่บุคคลมีต่อผู้หนึ่งผู้ใดนั้น อาจถูกต้องตรงกับมโนภาพที่คนทั่วไปมีต่อคนผู้นั้นหรือเห็นมโนภาพไม่ถูกต้องตรงกันก็ได้
3. Cognitive Process
Sullivan เชื่อว่าประสบการณ์เชิงการความคิดเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ และแบ่งประสบการณ์เชิงความคิดออกเป็น 3 ลักษณะใหญ่คือ
3.1 Prototaxic
เป็นประสบการณ์เบื้องต้นที่ยังมิได้มีการปรุงแต่งของวัยทารก เป็นประสบการณ์การรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างไม่เฉพาะเจาะจง เป็นการรับรู้ระดับทารกไม่เข้าใจความหมายเบื้องต้นของสิ่งที่รับรู้ ลักษณะการรับรู้อยู่ในระดับประสาทสัมผัส(Sensorimotor) ไม่สามารถ คิดแบบสัมพันธภาพ (Associative Thinking) ไม่เข้าใจความหมายของกาลเวลาและสถานที่ ไม่สามารถแบ่งแยกตนเองออกจากสภาพแวดล้อม เป็นการมองเห็นผู้คนหรือสิ่งของต่างๆ ผ่านการรับรู้หลาก หลาย แต่ไม่ตระหนักถึง การดำรงอยู่ของสิ่งนั้น สิ่งที่ผ่านหูผ่านตาก็ผ่านไปเฉยๆ เหมือนนั่งบนรถไฟที่กำลังแล่น และตาก็มองดูภูมิประเทศสองข้างทางผ่านไปเรื่อยๆ ไม่เอาใจใส่ไม่รับรู้
3.2 Parataxic
เมื่อเด็กเติบโตขึ้นสู่ประมาณวัยเด็กตอนต้น เด็กก็จะมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นลักษณะความคิดจะพัฒนาจากระดับ Prototaxic ไปสู่ระดับ Parataxic ความคิดของเด็กวัยนี้มีลักษณะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ (Associative Thinking) มีประสบการณ์ความนึกคิดและความคิดจินตนาการปนๆ กันไป จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่ในความคิดของเด็กความคิดเหล่านี้เป็นความจริง เช่น เด็กเชื่อว่า มียักษ์กินคน, มีซูเปอร์แมน, มีนางฟ้า, มีสัตว์ประหลาดจริงๆ เด็กๆ ในวัยนี้มีโลกทัศน์ส่วนตัว(ที่พ่อแม่มักไม่เข้าใจ) เด็กจะมีจิตนาการความคิดฝันระดับเด็ก ที่สนุกสนานที่ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ดู เรื่องสมมติชนิดต่างๆ เช่น นิทาน, การ์ตูน ประสบการณ์ในการเล่น ความคิดฝันและจินตนาการในวัยนี้ สำหรับบางคนอาจเป็นประสบการณ์ติดตัวฝังใจไปจนเติบใหญ่ เช่น การกลัวผี, กลัวการอยู่คนเดียว, กลัวคนไม่รัก, กลัวตำรวจ, กลัวหมอ ฯลฯ ความคิดฝันเหล่านี้อาจแสดงออกให้ปรากฏเมื่อบุคคลผู้นั้น เจ็บป่วย, มีอาการโรคประสาท, โรคจิต หรือในขณะมีความเครียดความวิตกกังวลสูง
3.3 Syntaxic
เมื่อเด็กมีความสามารถในการใช้ภาษาเพิ่มมากขึ้นจนถึงระดับสามารถรู้จักใช้สัญลักษณ์ (Symbolic Period) ความคิดของเด็กก็จะอยู่ในระดับที่ตรงต่อความเป็นจริงมากขึ้น เด็กจึงสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี และตรงกับข้อเท็จจริงยิ่งกว่าเดิม สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น, ความรู้สึก, ความเชื่อ กับผู้คนรอบข้างได้ดีขึ้น
Sullivan เชื่อว่า ในปกติวิสัยประจำวันของระดับวัยผู้ใหญ่ จะมีประสบการณ์ความคิด 2 ลักษณะผสมกันอยู่คือ Parataxic และ Syntaxic คือมีสภาพความคิดกึ่งฝันกึ่งจริง มักทำให้เกิดความขัดแย้งในการติดต่อสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เพราะแต่ละคนตีความหมายของภาษาที่ใช้แตกต่างกันไป ไม่ตรงกัน เช่น การตีความหมายของคำว่า "ยุติธรรม, ความดี, ความสุจริต, ความสนุก, ความรัก, ความไม่ดี, ความถูกต้อง, ชีวิตคือการต่อสู้, ความอดทน, ความซื่อสัตย์ ไม่เหมือนกัน"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น