วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

Modality

ทุกความคิดความรู้สึกที่เกิดขึ้นในสมองและระบบประสาทของมนุษย์ เกิดมาจากการทำงานผสมผสานกันของข้อมูลจากสองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือข้อมูลจากระบบประสาทสัมผัสทั้งห้าอันประกอบไปด้วย ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกายสัมผัส อีกส่วนหนึ่งก็คือบรรดาข้อมูลเก่าที่เราเคยเรียนรู้แล้วเก็บสะสมเอาไว้ในระบบความจำของเรา ซึ่งก็มีทั้งในส่วนที่เป็นจิตสำนึก และจิตใต้สำนึก


เรื่องจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกนั้นในที่นี้จะของดเอาไว้ก่อน เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่พูดถึงกันมาหลายรอบแล้ว โดยในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะกลไกการรับรู้ของระบบประสาทหรือที่นัก NLP เรียกกันว่า Modality

คำว่า Modality หมายถึงรูปแบบหรือโครงสร้างหลักที่มนุษย์ใช้ในการรับรู้ข้อมูล โดยจะประกอบไปด้วย 5 ส่วนด้วยกัน คือ ตาดู (Visual) หูฟัง (Auditory) จมูกดมกลิ่น (Olfactory) ลิ้นชิมรส (Gustatory) และผิวกายสัมผัสความรู้สึก (Kinesthetic) โดยทั่วไปนัก NLP จะเขียนย่อๆ
ออกมาเป็น V A O G K

มาถึงตรงนี้นักศึกษาเรื่องจิตสายพุทธอาจจะนึกแย้งว่ามันขาดไปอันหนึ่ง ซึ่งก็คือส่วนที่เป็น "ใจ" นึกคิด ซึ่งตรงส่วนของใจนี้ใน NLP ได้นำเอาส่วนที่เป็นใจไปแยกออกเป็น Modality (V A O G K) อีกชุดหนึ่ง เรียกว่าระบบ Modality ภายใน (Internal) คือการจินตนาภาพ การจินตนาเสียง การจินตนาการถึงกลิ่น การจินตนาการถึงรสชาติ และการจินตนาการถึงความรู้สึก และมักจะเขียนออกมาด้วยตัวย่อ Vi Ai Oi Gi Ki (ตัวอักษร i หมายถึง Internal หรือภายใน) ส่วน Modality ชุดแรกที่เป็นการสัมผัสจากภายนอกเข้ามานั้นจะเขียนออกมาเป็น Ve Ae Oe Ge Ke (ตัวอักษร e หมายถึง External หรือภายนอก)

เมื่อจะประมวลความรู้สึกหรือความต้องการออกมาซักอย่างหนึ่ง คนเราในแต่ละคนมีรูปแบบของการจัดเรียง Modality เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกัน รูปแบบการเรียงตัวของ Modality ในแต่ละคนจะเรียกว่า Strategy

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนๆ เดียวกัน ความรู้สึกที่เป็นบวกก็มี Strategy แบบหนึ่ง ส่วนความรู้สึกที่เป็นลบก็จะมี Strategy อีกแบบหนึ่ง เช่นเมื่อให้ละลึกไปถึงเหตุการณ์ที่เป็นความสำเร็จในอดีตเพื่อเรียกเอาสภาพอารมณ์นั้นกลับคืนมา แล้วให้พูดหรือเขียนบรรยายถึงซักเรื่องหนึ่งขึ้นมา

"เมื่อปลายปีที่แล้วผมไปแข่งมอเตอร์ไซค์ระดับท้องถิ่นรายการหนึ่ง วันนั้นท้องฟ้าปลอดโปร่ง อากาศก็สดชื่นมาก มองเห็นตัวเองบนมอเตอร์ไซค์คันเก่งพร้อมกับได้ยินเสียงกระหึ่มจากปลายท่อไอเสียของมัน ในที่สุดผมพุ่งทะยานออกไปข้างหน้า แซงคนอื่นขึ้นไปเรื่อยๆ สายลมผ่านตัวไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผมได้ยินเสียงของลมที่ผ่านหูผมไปอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดธงตาหมากรุกก็โบกอยู่ข้างหน้า แล้วผมเข้าเส้นชัยเป็นคนแรก"

จากตัวอย่างนี้ เมื่อเรานำเอา Strategy ชุดนี้ออกมาเขียนเป็นแผนผัง เราก็จะได้แผนผังดังนี้

+ วันนั้นท้องฟ้าปลอดโปร่ง (Vi มองเห็นจากในใจ)
+ อากาศก็สดชื่น (Ki มีความรู้สึกในใจ)
+ มองเห็นตัวเองบนมอเตอร์ไซค์ (Vi มองเห็นจากในใจ)
+ ได้ยินเสียงกระหึ่ม (Ai ได้ยินในใจ)
+ ผมพุ่งทะยานออกไปข้างหน้า (Vi, Ki มองเห็นจากในใจและมีความรู้สึกในใจ)
+ แซงคนอื่นขึ้นไปเรื่อยๆ (Vi มองเห็นจากในใจ)
+ สายลมผ่านตัวไปอย่างรวดเร็ว (Ki มีความรู้สึกในใจ)
+ ได้ยินเสียงของลม (Ai ได้ยินในใจ)
+ ธงตาหมากรุกก็โบกอยู่ข้างหน้า (Vi มองเห็นจากในใจ)

เมื่อเอามาเขียนเป็นสูตรตามประสานัก NLP ความรู้สึกสำเร็จที่ได้มาจากประสบการณ์แข่งรถในอดีตนี้จะออกมาเป็น Vi Ki Vi Ai Vi Ki Vi Ki Ai Vi

สูตรการเรียงตัวของการทำงานภายในระบบประสาท หรือสูตร Strategy นัก NLP สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก เช่นใช้ในการแบ่งความรู้สึกออกเป็นส่วนๆ โดยแยกว่าส่วนใดทำงานด้วย Modality ตัวใดบ้าง ก่อนที่จะเริ่มปรับแต่งในระดับของ Sub-Modality เพื่อทำให้ความรู้สึกในแต่ละส่วนเกิดการเปลี่ยนแปลงปริมาณเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามที่เราต้องการ เมื่อเราต้องกลับไปนึกถึงภาพเหตุการณ์นี้อีกครั้ง (เช่นใช้ปรับแต่งความรู้สึกในอดีตก่อนนำเอาความรู้สึกนั้นแพ็คเป็น Anchoring เก็บเอาไว้ในจิตใต้สำนึก)

นอกจากนี้สูตร Strategy ยังช่วยให้นักสะกดจิตสามารถวิเคราะห์และประเมินได้ว่าควรจะใช้ถ้อยคำในลักษณะใด จึงจะสอดคล้องกับความเคยชินของระบบประสาทของผู้รักการสะกดจิต ซึ่งมันจะเป็นการช่วยให้การสะกดจิตนั้นบรรลุผลได้รวดเร็วและง่ายขึ้น เช่นจากตัวอย่างข้างต้นนั้น เราพบว่าระบบประสาทของเขานั้น ภาพในใจ (Vi) และความรู้สึกในใจ (Ki) นั้นมักจะมาคู่กันในขณะที่การฟังเสียงในใจ (Ai) นั้นมีบ้างเป็นระยะๆ ดังนั้นการใช้ถ้อยคำในการสะกดจิตชักจูงให้คนๆ นี้เกิดสภาพความรู้สึกที่เป็นบวกนั้น ควรมีการใช้สำที่ชักจูงให้เห็นภาพและความรู้สึกผสมผสานควบคู่กันไป ในขณะที่เสียงนั้นก็ควรมีแต่ให้เป็นส่วนประกอบที่จะเข้ามาเสริมเป็นระยะๆ เท่านั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น