วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554

จิตบำบัดชนิดปรับโครงสร้างใหม่ (Reconstructive Therapy)

จิตบำบัดชนิดนี้มีความละเอียดลึกซึ้งมากกว่าจิตบำบัดแบบประคับประคอง และ จิตบำบัดแบบการเรียนรู้ใหม่ โดยที่จิตบำบัดชนิดปรับโครงสร้างใหม่มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 ประการใหญ่ ๆ คือ

1. พัฒนาการหยั่งรู้ (insight) เข้าไปสู่จิตใต้สำนึก ผู้ป่วยจะได้รับการช่วยเหลือให้เข้าใจข้อขัดแย้งทางอารมณ์และทำให้เขาเข้าใจความขัดแย้งที่อยู่ภายใต้จิตใต้สำนึก ทำให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนอุปนิสัย พฤติกรรม และบุคลิกภาพของเขาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

2. ส่งเสริมให้มีการเติบโตทางบุคลิกภาพ

จิตบำบัดแบบปรับโครงสร้างใหม่นี้มีแนวคิดมาจากแนวคิดที่สำคัญ ๆ 6 ชนิดดังต่อไปนี้




1. จิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (Freudian Psychoanalysis)
แนวคิดของฟรอยด์เกี่ยวกับการทำงานของจิตนั้นมีอยู่ไว้ว่า มีพลังทางจิตที่สำคัญที่เรียกว่า ลิบิโด้ (libido) พฤติกรรมของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้านเพศและความก้าวร้าวในช่วงของวัยเริ่มต้นของชีวิตแต่ละวัย อันได้แก่ oral state, anal stage และ phallic stage ซึ่งหากการพัฒนาการในแต่ละช่วงของทั้งสามช่วงนี้เกิดการติดขัดขึ้นมา จะสามารถก่อให้เกิดโรคประสาทในบุคคลได้ ฟรอยด์มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในระดับที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัวนั้นเกิดขึ้นเพราะบุคคลพยายามแก้ไขข้อขัดแย้งทางเพศ
ฟรอยด์ยังได้อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในแง่ของพลังงานทางจิตสามชนิดได้แก่

• Id หมายถึง ความต้องการตามสัญชาตญาณดิบ ซึ่งไม่มีเหตุผล
• Ego หมายถึง ส่วนที่มีเหตุผล และอยู่ในความเป็นจริง
• Super Ego หมายถึง ส่วนที่เป็นคุณธรรม มโนธรรม และศีลธรรม เป็นความดีงามและความถูกต้องที่อยู่ในตัวของบุคคล

ทั้งสามองค์ประกอบนี้มีความสำคัญต่อกันและกัน ก่อให้เกิดเป็นพฤติกรรมของบุคคลอย่างที่เป็นอยู่ เมื่อผ่านกระบวนการทำจิตวิเคราะห์ คน ๆ นั้นจะสามารถเข้าใจพฤติกรรมของตนในแง่มุมต่า ๆ ทั้งในระดับที่รู้สึกตัวและไม่รู้สึกตัว และจะสามารถทำให้มันอยู่ภายใต้การควบคุมได้ด้วยความช่วยเหลือจากนักจิตวิเคราะห์ ซึ่งจะใช้เทคนิคต่าง ๆ อันได้แก่ การให้มีการสื่อสารอย่างอิสระ (Free Association) การถ่ายโยง (Transference) การแปลความฝัน (Interpretation of Dreams) และการวิเคราะห์การต่อต้าน (Analysis of Resistance)

ทั้งนี้แล้วมีการพิจารณาการบำบัดด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ว่ามีข้อเสียอยู่บ้าง อันได้แก่ จิตบำบัดแบบจิตวิเคราะห์นั้นเป็นวิธีที่มีความละเอียด และเจาะลึกมากจนเกินไป ทำให้ต้องใช้เวลามากในการบำบัด การบำบัดประเภทนี้ทำให้ผู้ป่วยต้องเจ็บปวดมาก เพราะผู้ป่วยต้องรื้อฟื้นความหลังที่ขมขื่นของเขาออกมา รวมไปทั้งการบำบัดแบบจิตวิเคราะห์ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก การบำบัดแบบจิตวิเคราะห์นี้เหมาะกับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มคือผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาของเขาเอง จิตบำบัดด้วยวิธีจิตวิเคราะห์นี้ยังถูกวิจารณ์ว่าเน้นเรงขับด้านเพศมากเกินไป ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่มาจากจิตใต้สำนึกที่ทำออกไปโดยไม่รู้ตัวมากเกินไปเช่นกัน

ถึงแม้ว่าจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่กระนั้นแล้วทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ในประเด็นแนวคิดที่เกี่ยวกับจิตสำนึก จิตใต้สำนึก การเก็บกดและกลไกป้องกันทางจิตต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็ยังเป็นพื้นฐานต่อการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาจิตเวชส่วนมาก และเป็นพื้นฐานให้กับทฤษฎีจิตวิทยาอีกหลาย ๆ ทฤษฎีในเวลาต่อมาอีกเช่นกัน

2. จิตวิเคราะห์ของเคลน (Kleinian Psychoanalysis)
ในขณะที่ฟรอยด์เชื่อว่าจิตสำนึกหรือ Super Ego ของคนนั้นจะเกิดหลังจากช่วงอายุ 5 ปีผ่านไปแล้ว แต่เคลน (Klein) เชื่อว่า Super Ego ของคนจะได้รับการพัฒนาทันทีตั้งแต่แรกเกิด เขาเชื่อว่าปัญหาทั้งหลายที่เกิดทางประสาท ได้มีการสะสมไว้แล้วตั้งแต่วัยเด็ก เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการระแวง (paranoid) หรือโรคซึมเศร้า (Depression)

กลไกป้องกันทางจิตที่สำคัญในทฤษฎีของเคลนคือ Projective Identification เขาเชื่อว่าคนเราใช้กลไกป้องกันทางจิตชนิดนี้ก็เพื่อหลีกหนีจากความรู้สึกที่เจ็บปวดซึ่งเกิดขึ้นจากการต้อง "แยกจาก" คนหรือสิ่งที่ตนรัก แนวคิดนี้ของเคลนถูกวิจารณ์ว่ายังคับแคบ ไม่กว้างขวาง และมีอคติอยู่มาก

3. การวิเคราะห์อัตตา (Ego-Analysis)
ทฤษฎีนี้มองว่าพฤติกรรมของมนุษย์ไม่ได้เกิดจากแรงผลักดันที่อยู่ในจิตใจ หรือมีผลมาจากสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด พฤติกรรมที่ดีต้องควบคุมได้ในระดับที่รู้สึกตัว เมื่อใดก็ตามที่อีโก้ไม่สามารถควบคุมความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตัวเองได้ เมื่อนั้นบุคคลก็จะเกิดพยาธิสภาพทางด้านอารมณ์และจิตใจเป็นความเจ็บป่วยทางจิต

4. จิตวิเคราะห์ตามแบบฟรอยด์ใหม่ (Neo-Freudian Psychoanalysis)
กลุ่มฟรอยด์ใหม่ (Neo-Freudian) คือ กลุ่มนักจิตวิทยาที่แยกตัวออกมาจากฟรอยด์ ทฤษฎีของพวกเขานั้นมีพื้นฐานมาจากทฤษฎีของฟรอยด์ ซึ่งนักจิตวิทยาที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มฟรอยด์ใหม่ได้แก่

• Carl G. Jung คาร์ล จุงไม่เห็นด้วยกับความคิดของฟรอยด์ที่เน้นเรื่องเพศ เขาให้ความสนใจที่จิตวิญญาณของบุคคล และกล่าวว่าบุคคลแสวงหาจิตวิญญาณเพื่อพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองและทำให้ชีวิตของตนมีความหมายขึ้นมา จุดเน้นของคาร์ล จุงจึงอยู่ที่ความเชื่อและศาสนา เขาใช้ความเชื่อทางจิตวิญญาณนี้อธิบายจิตใต้สำนึก

• Alfred Adler แอ็ดเลอร์ไม่เห็นด้วยกับความคิดของฟรอยด์ในเรื่องของทฤษฎีเรื่องเพศและเรื่องลิบิโด เขากล่าวว่าแรงผลักดันทางสังคมนั้นมีความสำคัญมากกว่าแรงผลักตามสัญชาตญาณทางชีววิทยา แอ็ดเลอร์ชี้ให้เห็นว่าบุคลิกภาพของคนนั้นไม่ได้เกิดจากแรงผลักจากจิตใต้สำนึก ดังนั้นคนเราจึงสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาได้โดยรู้สึกตัว นอกจากนี้แอ็ดเลอร์ยังเน้นความคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบของบุคคลต่อการกระทำของเขาและต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขาด้วย

• Otto Rank แรงค์ตั้งทฤษฎีใหม่ชองเขาชื่อ "Birth Trauma" หรือความตกใจกลัวตอนเกิด เขาเป็นผู้นำเกี่ยวกับกระบวนการบำบัดรักษาผู้ป่วยในลักษณะที่ยืดหยุ่น และมีทางเลือกได้มากกว่า ผู้ป่วยมีอิสระเลือกปฏิบัติได้อย่างเสรี เขาเห็นด้วยกับความคิดของ ฟรอยด์ที่ว่าความตกใจกลัวตอนเกิด เกิดจากการที่เด็กถูกบังคับให้ต้องแยกจากมารดาขณะเกิด การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดจะเป็นไปในสองแนวทางด้วยกันคือ 1. ทารกแรงจูงใจที่จะกลับไปอยู่ในร่างกายของมารดาอีกเพราะมีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย และ 2. ทารกมีแรงจูงใจที่จะแยกออกจากร่างกายของมารดา เพื่อที่จะรู้สึกว่าเขาเป็นตัวของเขาเอง เขาเชื่อว่าตลอดชีวิตของมนุษย์จะมีความขัดแย้งของสิ่ง 2 สิ่งตลอดเวลา คือ "ความต้องการแยกจาก" และ "ความต้องการเข้าหา"

แรงค์มีความเห็นว่าในระหว่างการทำจิตบำบัด ผู้ป่วยจะมีโอกาสได้เผชิญกับประสบการณ์ในอดีต กระบวนการบำบัดจิตของแรงค์นี้ผู้บำบัดจะต้องช่วยให้ผู้ป่วยใช้ความสามารถสูงสุดของเขาสร้างกำลังใจให้กับตัวผู้ป่วยเอง เพื่อให้เขาสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิต คือ การเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาได้ การบำบัดของแรงค์จะต่างจาก ฟรอยด์ตรงที่ไม่มีการพูดถึงเรื่องเพศ แต่จะเน้นเรื่องการต่อต้าน ส่วนเรื่องการถ่ายโยง (Transference) นั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเพื่อการเจริญเติบโต ทำให้คน ๆ นั้นมีความเข้มแข็ง และมีพลังในการที่จะเป็นตัวของตัวเอง

• Erick Fromm จิตวิเคราะห์ของฟรอมม์กล่าวว่า แรงจูงใจตลอดจนพฤติกรรมของมนุษย์ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรมที่เขาเติบโตและถูกเลี้ยงดูมา สังคมเป็นตัวสร้างอุปนิสัยของคน ฟอรมม์เชื่อว่าคนที่เป็นโรคจิตโรคประสาทและมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นสิ่งที่แสดงว่าคน ๆ นั้นต้องการหลีกหนีจากสังคมที่ทำให้เขาได้รับความเจ็บปวดและทรมาน เขากล่าวว่า "สังคมที่ป่วย" (sick society) ต่างหากที่ทำให้คนต้องเจ็บป่วยและเป็นบ้า ทำให้คนมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม และทำให้คนต้องทำร้ายตนเองถึงขั้นฆ่าตัวตาย ฟรอมม์จึงเชื่อว่า การทำจิตบำบัดให้กับคนไข้นั้นควรต้องบำบัดสังคมของคนไข้ด้วย คือ ต้องจัดระเบียบสังคมให้ถูกต้อง เหมาะสม มีระเบียบวินัย และดีงาม

• Karen Horney เสนอแนวคิดที่เกี่ยวกับพื้นฐานของสาเหตุการเกิดความกังวลใจ และความสัมพันธ์ระหว่างโรคประสาทและความไม่มั่นคงปลอดภัย เธอได้กล่าวไว้ว่าตลอดทั้งชีวิตของมนุษย์จะมีการต่อสู้ดิ้นรนกันไปทั้งชีวิต ความกังวลใจนั้นมีต้นเหตุมาจากครอบครัวและสังคม ถ้าสภาวะแวดล้อมทางครอบครัวไม่ดี ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตในภายภาคหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอารมณ์และจิตใจของบุคคล โดยสภาพแวดล้อมและสังคมที่เสื่อมเสียจะก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตประสาทได้

แนวทางเพื่อป้องกันไม่ให้คนต้องมีความกังวลใจ หรือทำให้มีความกังวลใจในระดับที่น้อยที่สุดได้แก่ พยายามปรับเข้าหา (เห็นด้วย) ต่อต้าน (ไม่เห็นด้วย) และ หลีกหนีไปให้พ้น (ทำเฉย ๆ ไม่ยุ่งเกี่ยว) ถ้าบุคคลมีพฤติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวนี้และกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกก็จะก่อให้เกิดผลเสีย คือ จะมีพฤติกรรมที่เป็นโรคประสาท ดังนั้นการบำบัดจึงควรมีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยที่เป้าหมายระยะสั้นนั้นอาจเป็นการกระทำที่ง่าย ๆ คือ สร้างความสัมพันธ์ในแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนเขา หรือให้ความรู้แก่ตัวเขา เป้าหมายระยะยาวคือ พยายามกระตุ้นส่งเสริมพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ในตัวผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของเขาในที่สุด

• Sullivan เสนอแนะทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal Theory) เพื่อที่จะอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ เขาย้ำว่าความเจ็บปวดทางอารมณ์และจิตใจเกิดจากการได้รับความกระทบกระเทือนในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การจะบำบัดรักษาผู้ป่วยทางอารมณ์และจิตใจได้ก็ต้องให้บุคคลนั้น ๆ มีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ในทางที่ดี ซัลลิแวนเชื่อว่าบุคคลที่มีความสำคัญกับชีวิตของบุคคล ๆ หนึ่งมากที่สุดคือ แม่ เพราะการหล่อหลอมพื้นฐานในด้านทัศนคติ ค่านิยม วินัยต่าง ๆ ของบุคคลนั้นย่อมเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับแม่ เด็กจะได้รับการถ่ายทอดทัศนคติ ค่านิยมมาตรฐานทางสังคม ความสามารถในการกระทำหน้าที่ทางสังคมไปจากมารดา ประสบการณ์ใด ๆ ก็ตาม ดังนั้นแล้วในระยะแรกเกิดและระยะวัยต้นของชีวิต คนที่มีความสำคัญและมีความหมายในชีวิตของเด็กจะมีอิทธิพลนำไปสู่พื้นฐานทางบุคลิกภาพของเด็กในอนาคตได้

จิตบำบัดของซัลลิแวนจึงเน้นที่กระบวนการก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งผู้ให้การบำบัดนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตุการณ์ จุดเน้นในจิตบำบัดของซัลลิแวนมุ่งเน้นไปที่อาการกังวลใจ (anxiety) ที่เกี่ยวเนื่องมาจากความสัมพันธ์ของบุคคล ผู้บำบัดจะเสนอแนะกระบวนการสื่อสาร เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีปฏิกิริยาตอบโต้กับความกังวลใจ การบำบัดจะยุติได้ก็ต่อเมื่อผู้รับบริการมีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

5. Existential Analysis
การบำบัดรักษาชนิดนี้เน้นหลักการ "การอยู่รอด" ของบุคคล เพื่อชี้ให้เห็นว่าเพียงแค่ให้บุคคลสามารถค้นหาเป้าหมายในชีวิตของเขาให้ได้ คน ๆ นั้นก็จะรู้สึกว่าเขาสามารถที่จะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้

ปรัชญาของการบำบัดรักษานี้อยู่ที่ว่า "มนุษย์ไม่ใช่จะมีชีวิตอยู่ได้ด้วยวัตถุเท่านั้น แต่คุณค่าของชีวิตยังได้มาจากหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งอาจเป็นศาสนา ค่านิยม ศีลธรรม ความดี ความงาม" การบำบัดรูปแบบนี้ไม่เน้นที่การซักประวัติในอดีตอย่างลึกซึ้ง และเชื่อว่าบุคคลแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะเฉพาะตัว ความเป็นมาของชีวิตแต่ละชีวิตย่อมแตกต่างกันไป ผู้บำบัดจะเป็นผู้ที่อยู่คู่กันกับผู้ป่วย เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการสื่อสัมพันธ์กับผู้อื่นให้ดีขึ้นได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น