มนุษย์ต้องการการสัมผัสทางร่างกายอย่างมาก และเมื่อเติบโตขึ้นจึงเปลี่ยนมาเป็นความต้องการการสัมผัสทางใจ ซึ่งเรียกว่า “ความเอาใจใส่” (Stroke) โดยบุคคลจะแสวงหาความเอาใจใส่จากผู้อื่น และให้ความสนใจผู้อื่นทั้งทางกายและทางใจ เช่น การโอบกอด กุมมือ แสดงด้วยสายตาห่วงใย หรือแม้แต่การกระทำความผิดใด ๆ เพื่อให้ได้รับคำตำหนิ นั่นหมายความว่าเขาได้รับความเอาใจใส่เช่นกัน
รูปแบบของความเอาใจใส่
1. ความเอาใจใส่ทางบวก (Positive Stroke)
หมายถึง การแสดงออกด้วยคำพูด หรือ กิริยาท่าทางที่ทำให้ผู้รับรู้สึกมีความสุข อบอุ่น สบายใจ เช่นการโอบกอด แสดงความเอื้ออาทร หรือคำพูดทักทายที่อ่อนหวาน แสดงความห่วงใย คำชมต่าง ๆ
2. ความเอาใจใส่ทางลบ Negative Stroke)
หมายถึง การที่บุคคลแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือความเอาใจใส่จากผู้อื่นด้วยการสร้างปัญหา โดยกระทำสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับ แสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเขายังมีตัวตนอยู่ เช่น ติเตียนผู้อื่น เฉยเมย พูดด้วยถ้อยคำดูถูก เดินลงส้นเท้า ฯลฯ เพื่อให้ผู้ที่ใกล้ชิดเขาสนใจ แม้แต่เป็นเพียงการตำหนิ เขาก็ต้องการได้รับ ดีกว่าไม่ได้รับความสนใจใด ๆ
บุคคลที่แสดงพฤติกรรมทางลบ เพื่อต้องการให้ผู้อื่นสนใจ มักจะมีการพัฒนาทางร่างกายและจิตใจที่ขาดตกบกพร่อง ข่าวสารและข้อมูลที่เขาได้รับมาตั้งแต่วัยเด็กก่อให้เกิดทัศนคติที่ไม่ดีแก่ผู้อื่นเสมอ ๆ เช่นถูกล้อเลียน ถูกลดคุณค่า ได้รับการตั้งชื่อแปลก ๆ ซึ่งเขาได้รับการดูหมิ่นให้ต่ำต้อยทางอ้อม ดังกล่าวเป็นการได้รับความเอาใจใส่ทางลบทั้งสิ้น
3. การเอาใจใส่ทางบวกหรือทางลบอย่างมีเงื่อนไข (Conditioned Strokes)
หมายถึง การกระทำในลักษณะที่ให้กำลังใจหรือลดกำลังใจ ให้รางวัลและให้การลงโทษเมื่อพฤติกรรมเป็นหรือไม่เป็นไปตามสิ่งที่ผู้รับคาดหวัง
4. การเอาใจใส่ทางบวกหรือทางลบอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned Strokes)
หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกในลักษณะที่ให้หรือลดกำลังใจ โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้รับ เช่น “ดีใจจังเลยที่ได้พบคุณวันนี้” หรือ “คุณนี่อยู่ที่ไหนวุ่นที่นั่น”
5. การเอาใจใส่ที่หลอกลวง (Plastic Strokes)
หมายถึง การกระทำที่ให้กำลังใจแด่ผู้ให้อย่างเสแสร้ง ไม่ได้ให้จากใจจริง เช่น แกล้งเยินยอ หรือแกล้งชม
6. การเอาใจใส่ที่เป็นพิธีการ (Ritual Strokes)
หมายถึง การกระทำดีต่าง ๆ เพียงเพื่อเป็นมารยาทในสังคม หรือเพื่อดำเนินสัมพันธภาพของบุคคลในสังคม เช่น การจับมือกัน การโค้ง การไหว้ การทักทายถามถึงความทุกข์สุขซึ่งกันและกันในระหว่างที่พบกันในสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น